Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ดีเอสไอ ติดตามคดี “จ่านิว” – แม่ขอ “คุ้มครองพยาน”

ดีเอสไอ ติดตามคดี “จ่านิว” – แม่ขอ “คุ้มครองพยาน”

426
0
SHARE

นายธวัชชัย ไทยเขียว  รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการทำร้าย จ่านิว หรือ นายสิริวิชญ์ เสรีธิวัฒน์  ว่า เรื่องนี้  กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทำงานเชิงรุกภายใต้นโยบาย “Justice Care/ยุติธรรมใส่ใจ“ ได้ส่งหน้าหน้าที่เดินทางไปโรงพยาบาลตั้งแต่เมื่อวานนี้ (29 มิ.ย.)  เพื่อแจ้งสิทธิและรับคำขอรับเงินค่าตอบแทนในฐานะเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนความเสียหาย ที่เกิดขึ้น  อันเนื่องมาจากมีการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่นตามพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พร้อมให้คำแนะนำข้อกฎหมาย รวมถึงวิธีการเข้าสู่มาตรการคุ้มครองพยานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546แก่จ่านิว  ซึ่งได้พบนางพัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาจ่านิว แจ้งว่าขณะนี้จ่านิวยังคงพักรักษาตัวอยู่ในห้องพักผู้ป่วยขั้นวิกฤต (ICU) เจ้าหน้าที่จึงได้แจ้งสิทธิและรับคำขอรับค่าตอบแทนผู้เสียหายในคดีอาญา รวมถึงแจ้งหลักเกณฑ์การให้ความคุ้มครองพยาน ดังกล่าว โดยมี พ.ต.อ.ชาญวิทย์ พุ่มพวง รอง ผบช.น.3 ร่วมรับฟังการแจ้งสิทธิดังกล่าวด้วย ซึ่งในเบื้องต้นมารดาจ่านิวมีความประสงค์จะขอรับการคุ้มครองพยาน แต่เนื่องจากขณะนี้จ่านิวยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ มารดาจึงขอให้เจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ ติดต่อกลับมาในภายหลังอีกครั้ง

อนึ่ง กรณีหลายฝ่ายอยากให้เป็นคดีพิเศษนั้น ในชั้นนี้เบื้องต้นกระทรวงยุติธรรมเห็นว่า กรณีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นของเป็นคดีอาญาอื่นที่ไม่ได้กำหนดอยู่ในท้ายพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษฯ ซึ่งคดีดังกล่าวจะสามารถเป็นคดีพิเศษได้ต่อเมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคำร้องและต่อมาคณะกรรมการคดีพิเศษมีมติด้วยคะแนนสองในสามของคณะกรรมการทั้งหมด โดยคดีนั้นต้องเป็นคดีที่มีการกระทำอันเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ หรือคดีที่มีการกระทำความผิดหลายเรื่องต่อเนื่องกันหรือเกี่ยวพันกัน และความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะต้องดำเนินการโดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีอำนาจสืบสวนสำหรับความผิดบทอื่นหรือเรื่องอื่นด้วย และให้ถือว่าเป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (2) จึงจะเป็นคดีพิเศษที่กรมสอบสวนคดีพิเศษจะดำเนินคดีได้

อย่างไรก็ตามกรมสอบสวนคดีพิเศษได้สั่งการให้มีการสืบสวนตามทางข้างในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าคดีความผิดทางอาญาใดเป็นคดีพิเศษมาตรา 23/1 วรรคสอง คู่ขนานไปกับการปฎิบัติงานของฝ่ายตำรวจด้วย ทั้งนี้เพื่อทราบข้อเท็จจริงและสนับสนุนการปฏิบัติงานของตำรวจอย่างเต็มที่