น.ส.อำพันธ์ ธุววิทย์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน แถลงข่าว 3 ก.ค.2562 ว่า ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 สามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลตามสิทธิ์โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์ได้ ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุดได้ทันที เช่น อุบัติเหตุรถชน หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัดแบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด รวมทั้งอาการที่มีผลต่อการหายใจ ระบบไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น หลอดเลือดตีบ-แตก สามารถเข้ารักษาจนพ้นภาวะวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้ ไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน โดยไม่ต้องสำรองจ่าย หากต้องสำรองจ่ายสามารถขอเงินคืนกับประกันสังคมได้ภายใน 72 ชั่วโมง และผู้ประกันตนหรือญาติต้องรีบแจ้งให้โรงพยาบาลตามสิทธิ์ทราบโดยด่วน หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเข้ารักษาโรงพยาบาลอื่นภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง หากเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐ สามารถขอรับค่าใช้จ่ายในการรักษาคืนได้ตามค่าใช้จ่ายจริง แต่หากรักษาในโรงพยาบาลเอกชน เบิกคืนได้ตามอัตราที่กำหนด กรณีผู้ป่วยใน ค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 2,000 บาท ห้องและค่าอาหารไม่เกิน 700 บาท กรณีรักษาในห้อง ICU ไม่เกิน 4,500 บาท ผ่าตัดใหญ่ไม่เกิน 8,000 – 16,000 บาท (ตามระยะเวลาการผ่าตัด) ค่ายาและอุปกรณ์ ไม่เกิน 4,000 บาท ค่าเอกซเรย์ไม่เกิน 1,000 บาท รวมทั้งค่าวินิจฉัยพิเศษตามเกณฑ์กำหนดและประเภท เริ่มต้นที่ 300 บาท
matemnews.com
3 กรกฎาคม 2562