กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริงกรณี กรณีโรงพยาบาลตรวจเชื้อเอชไอวีผิดพลาด พร้อมให้การเยียวยาช่วยเหลือตามสิทธิ์ โดยจะให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย
วันที่ 3 ก.ค.2562 นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคมพานางมณีรัตน์ คงหอม ผู้เสียหายจากการตรวจเชื้อเอชไอวีผิดพลาดที่ รพ.แห่งหนึ่งใน จ.นครศรีธรรมราช เข้าร้องเรียนต่อ นพ.พิทักษ์พล บุณยมาลิก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข 11 รับผิดชอบเขตภาคใต้ตอนบน หลังถูกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตรวจพบเจอเชื้อ HIV ผิดพลาดเมื่อ 5 ปีก่อน
นางมณีรัตน์ กล่าวว่า ตนมีลูกกับสามีคนแรก 5 คน โดยไปคลอดลูกคนที่ 4 และ 5 ที่ รพ.ทุ่งส่ง เมื่อปี 2557 และ 2558 ซึ่งแพทย์ระบุว่าตรวจพบเชื้อเอชไอวีในเลือด ตนและลูกจึงต้องรับยาต้านไวรัส แต่ตนไม่ได้กิน ให้แค่ลูกคนที่ 4 และ 5 กินยาอย่างต่อเนื่องมา 5 ปี ซึ่งลูกก็แข็งแรงดี
อย่างไรก็ตาม เหตุที่เกิดขึ้นทำให้ได้รับความทุกข์ทรมาน จากการถูกสังคมตีตรา ลูกถูกเพื่อนล้อว่าแม่เป็นเอดส์มารับ ทำให้ไม่กล้าไปรับลูกที่โรงเรียน พี่เลี้ยงเด็กที่จ้างมาก็รังเกียจลูกทั้ง 2 คน ข้างบ้านไม่มีเด็กเล่นด้วย จนต้องย้ายครอบครัวไปพิษณุโลก จึงพบสามีคนที่ 2 และมีลูกคนที่ 6
แต่เมื่อไปคลอดที่รพ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก โดยไม่ได้ฝากครรภ์ จึงรู้ว่าลูกไม่ติดเชื้อเอชไอวี ตนก็ไม่พบเชื้อ โดยรพ.ตรวจยืนยันอีก 3 ครั้งก็ไม่พบเชื้อ จึงนำลูกคนที่ 4 และ 5 ไปตรวจ ก็ไม่พบเชื้อเอชไอวี
นพ.พิทักษ์พล กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบจากการตรวจเชื้อเอชไอวี ที่โรงพยาบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช จะนำเรื่องเสนอปลัดกระทรวง และตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริง เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้รับผลกระทบและผู้ให้บริการ เรื่องที่สำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการคือการช่วยเหลือเยียวยา ตามกระบวนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากบริการสาธารณสุข ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 41 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จะมีมาตรฐานการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในเลือด โดยจะตรวจคัดกรองเบื้องต้นก่อน หากพบมีปฏิกิริยา (reactive) จะต้องส่งตรวจยืนยันด้วยเทคนิคอื่นเพิ่มเติม หากพบมีปฏิกิริยาในทุกการทดสอบ จึงจะวินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะทดสอบอีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันตัวบุคคลด้วย ถ้าการตรวจยืนยันไม่พบปฏิกิริยา (non-reactive) แสดงว่าการตรวจคัดกรองเบื้องต้นเป็นผลบวกปลอม (false positive) สำหรับกรณีที่เป็นข่าวดังกล่าว คณะกรรมการจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยเร็ว