Home ข่าวทั่วไปรอบวัน “รัฐวิสาหกิจ”เตรียมจ่าย “ธนารักษ์”เรียกเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุ

“รัฐวิสาหกิจ”เตรียมจ่าย “ธนารักษ์”เรียกเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุ

554
0
SHARE

“ธนารักษ์” เตรียมลุยเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุที่ครอบครอง 5 แสนไร่ หลังกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ แจงจะพิจารณาตามความเหมาะสม พร้อมยกเครื่องค่าเช่าเชิงพาณิชย์กับภาคเอกชนอีก 2.5 หมื่นแปลง ลุ้นรายได้ทะยานแตะ 1 หมื่นล้านบาท
    นายอํานวย ปรีมนวงศ์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2562 ได้เริ่มบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค. ซึ่งมีผลให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องเสียค่าเช่าที่ราชพัสดุให้กับกรม จากเดิมที่บางแห่งที่มีกฎหมายเฉพาะจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียค่าเช่า เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดังนั้นกรมจะทำแนวทางการจัดเก็บค่าเช่า พร้อมเร่งจัดทำกฎหมายลูกเพื่อเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาโดยเร็ว ถ้าได้รับการเห็นชอบก็จะเริ่มเก็บค่าเช่าได้ทันที
    “กรมคาดว่าจะเริ่มเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้ภายในปีนี้ สำหรับอัตราค่าเช่าก็จะมีการพิจารณาตามความเหมาะสม เช่น ถ้าเป็นพื้นที่สำหรับใช้ในสาธารณูปโภคพื้นฐานก็เก็บอัตราหนึ่ง  แต่หากเป็นที่ราชพัสดุที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ก็อาจเก็บอีกราคาหนึ่ง ซึ่งอาจแพงขึ้นกว่าพื้นที่ทั่วไป” นายอำนวยกล่าว
    ทั้งนี้ พ.ร.บ.ราชพัสดุฯ ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 136 ตอนที่ 28 ก เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2562 ซึ่งมีผลบังคับใช้หลังประกาศ 120 วัน หรือวันที่ 7 ก.ค. ซึ่งมีทั้งสิ้น 50 มาตรา โดยในมาตรา 6 ได้กำหนดนิยามที่ราชพัสดุ คือ 1.อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด 2.ที่ดินที่สงวนหรือหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และ 3.ที่ดินที่สงวนหรือหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ของทางราชการตามกฎหมาย และในมาตรา 8 ได้กำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุ และให้กรมธนารักษ์มีหน้าที่ในการปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ส่วนการใช้และการจัดหาประโยชน์ให้เป็นไปตามที่บัญญัติใน พ.ร.บ.นี้
    รายงานข่าวจากกรมธนารักษ์แจ้งว่า เร็วๆ นี้ กรมได้เตรียมเจรจากับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ ซึ่งมีการครอบครองที่ราชพัสดุอยู่กว่า 5 แสนไร่ เพื่อทำความเข้าใจในการจัดเก็บค่าเช่าตามกฎหมายฉบับใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานที่นำที่ราชพัสดุไปใช้ฟรี หรือจ่ายค่าเช่าในอัตราที่ต่ำกว่าความเป็นจริง หรือนำที่ดินไปครอบครองแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยขั้นตอนหลังจากนี้ กรมต้องเข้าไปรวบรวมข้อมูลว่ามีสัญญาเช่ากับรัฐวิสาหกิจต่างๆ ว่ามีการเก็บค่าเช่าเท่าไร และการใช้ประโยชน์แบบใด เช่น ใช้เป็นสำนักงาน ใช้เพื่อผลิตสาธารณูปโภคพื้นฐาน ใช้เพื่อการกีฬา หรือนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เพื่อนำมาประกอบการเก็บค่าเช่าให้เหมาะสม
    “กรมยังมีแผนหารือกับหน่วยงานราชการที่มีที่ราชพัสดุ แต่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ให้มีการนำมาพัฒนาสร้างรายได้ร่วมกัน เพื่อสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้น ส่วนแผนการปรับปรุงค่าเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์กับภาคเอกชน 2.5 หมื่นแปลง ขณะนี้กรมได้ทบทวนค่าเช่าอยู่ ซึ่งหากพบว่ามีราคาต่ำกว่าราคาตลาด หรือไม่ได้ขึ้นค่าเช่ามานาน ก็จะพิจารณาปรับขึ้นในคราวเดียวกันด้วย” รายงานข่าวแจ้ง
    สำหรับการคิดค่าเช่าส่วนใหญ่คิดตามราคาตลาดอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีบางแปลงที่ตกหล่น ก็จะมาทบทวนใหม่ ส่วนที่ราชพัสดุสำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัย 9.2 หมื่นแปลง และที่ดินเพื่อการเกษตรอีก 5 หมื่นแปลงจะยังไม่มีการปรับขึ้นค่าเช่า เว้นแต่จะปรับปรุงสัญญาหรือเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้พื้นที่ถึงมีการทบทวนขึ้นค่าเช่า
    “ภาพรวมค่าเช่าที่ราชพัสดุของกรม ปัจจุบันมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์หรืออาร์โอเอเท่ากับ 2% กว่าๆ แบ่งเป็นที่ดินเชิงพาณิชย์เฉลี่ยอยู่ 3% ขณะที่ดินเพื่อการเกษตรและที่อยู่อาศัยจะอยู่ที่เฉลี่ย 1% แต่หลังขึ้นค่าเช่าใหม่รายได้อาร์โอเอจะเพิ่มเป็น 3% ขึ้นไป และทำให้ปีนี้กรมสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ 1 หมื่นล้านบาท” รายงานข่าวระบุ.