Home ข่าวทั่วไปรอบวัน มธ.ช่วยเหลือเหยื่อ-ครอบครัว ‘คดีแพรวา9ศพ’

มธ.ช่วยเหลือเหยื่อ-ครอบครัว ‘คดีแพรวา9ศพ’

600
0
SHARE

จากกรณี ‘แพรวา 9 ศพ’ ที่ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง หลังญาติเหยื่อออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมในเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปี 2553 แต่ผ่านมาถึง 9 ปี กลับไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ จากฝ่ายผู้ก่อเหตุนั้น

วันนี้ (17ก.ค.) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์  และรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องดังกล่าวระบุว่า

#รายงานคดีอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลเวย์ ที่เกิดจากรถฮอนด้าซีวิคชนกับรถตู้โดยสารที่วิ่งมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทำให้มีผู้เสียชีวิต 9 คน โดย #ศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำหน้าที่เป็นทนายทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งจนคดีถึงที่สุด สำหรับท่านที่สนใจและติดตามคดีที่ใช้เวลาถึง 9 ปีครับ

โดยสรุปคือศาลฎีกาพิพากษาในคดีอาญาว่าผู้ขับขี่รถฮอนด้าซีวิคมีความ ผิดฐานขับรถโดยประมาททำให้มีผู้เสียชีวิต และพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายครับ

ที่เรื่องนี้กลับมาสู่ความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง  เนื่องจากทางฝ่ายจำเลยยังไม่มีการชดใช้เยียวยาความเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้ช่วยเหลือติดตามในเรื่องนี้ต่อไปครับ’

พร้อมกันนี้ยังได้โพสต์แนบรายงานการดำเนินการของศูนย์นิติศาสตร์ในการยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายในคดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลล์เวย์ประกอบ ดังนี้ 

‘ตามคำสั่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ 2144/2553 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกฎหมายเพื่อดูแลคดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุบนทางด่วนโทลเวย์ ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ซึ่งสำนักงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ศูนย์นิติศาสตร์ ได้จัดทนายความดำเนินการยื่นฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหาย รวม13 คดี และเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีอาญา จากอุบัติเหตุคืนวันที่27ธันวาคม2553 เวลา กรณีนางสาวแพรวาหรืออรชร ขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสีขาว ยี่ห้อฮอนด้า ซีวิค ด้วยความเร็วสูงพุ่งเข้าชนท้ายรถตู้สาธาระ ยี่ห้อโตโยต้า ไอแอซ ซึ่งวิ่งเส้นทางระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต-สถานีหมอชิต (สาย ต.118) บนทางยกระดับอุตราภิมุข ซึ่งบรรทุกผู้โดยสารจำนวน14คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นเหตุให้รถตู้คันดังกล่าว ชนขอบทางยกระดับอุตราภิมุขอย่างแรงส่งผลให้ผู้โดยสารบางส่วนกระเด็นออกจากรถกระแทกพื้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 บางส่วนตกคลองมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหนึ่งคนกระเด็นไปกระแทกสะพานลอยใต้ทางยกระดับอุตราภิมุข และอีกส่วนหนึ่งติดอยู่ในรถตู้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุจำนวน 8 คน บาดเจ็บจำนวน 6 คน และต่อมาเสียชีวิตลงอีก 1 คน ในวันที่30 ธันวาคม 2553 รวมจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 9 คน บาดเจ็บ 5 คน ส่วนนางสาวแพรวาหรืออรชร ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

คดีอาญา

วันที่ 22 มิถุนายน 2554 พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางสาวอรชรหรือแพรวา เป็นจำเลย ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง คดีหมายเลขดำที่1233/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 1012/2555 ในความผิดต่อชีวิต ความผิดต่อร่างกาย (ประมาท) ลหุโทษ ความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินเสียหาย เป็นเวลา 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ประกอบกับความประพฤติทั่วไปของจำเลยยังไม่มีข้อเสียหาย เป็นการกระทำผิดครั้งแรก รู้สำนึกในการกระทำความผิด และได้บรรเทาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายบางส่วนแล้ว จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นคนดีสักครั้ง ให้รอลงโทษเป็นเวลา 3 ปี คุมประพฤติจำเลยเป็นเวลา 3 ปี กำหนดเงื่อนไขให้รายงานตัวทุก ๆ 3 เดือน ให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง ภายใน 2 ปี และห้ามขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนข้อหาอื่นศาลพิพากษายกฟ้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้ ให้รอลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี กับให้ทำงานบริการสังคมดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุปีละ 48 ชั่วโมง ส่วนโทษอื่นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

คดีแพ่ง

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ทนายความประจำศูนย์นิติศาสตร์ได้รับการแต่งตั้งเป็นทนายความของผู้เสียหายทั้ง 28 คน เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาวอรชรหรือแพรวา เทพหัสดิน ณ อยุธยา,พันเอกรัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา (บิดา), นางนิลุบล อรุณวงศ์ (มารดา), นายสุพิรัฐ จ้าววัฒนา (ผู้ครอบครองรถยนต์), นายสันฐิติ วรพันธ์ นางสาววิชชุตา วรขจิต และบริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ต่อศาลแพ่ง เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหายและประกันภัย จำนวน 113,077,510 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยที่7ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามสัญญากรมกรมธรรม์จนครบจำนวนแล้ว โจทก์จึงถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 และศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำละเมิด จำเลยที่ 1 ถึง 3 จึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันประกอบด้วยค่าขาดไร้อุปการะ ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงค่าเสียหายอื่น ๆ ให้แก่โจทก์ทั้ง 28 คน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 26,061,137 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิด และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ทั้งนี้ เงินค่าเสียหายที่กำหนดให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีจำนวนตั้งแต่ 4,000-1,800,000 บาท

โจทก์ทั้ง 28 โดยโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ขอให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดด้วย และจำเลยที่ 1-3 ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมรับผิดให้แก่โจทก์ทั้ง 28 และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อโจทก์ที่ 5 และที่ 11 ด้วย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 21,626,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิด ทั้งนี้ เงินค่าเสียหายที่กำหนดให้แก่ผู้เสียหายส่วนใหญ่นั้น ศาลอุทธรณ์ได้ปรับลดลงคิดเป็นอัตราร้อยละ 20 ของค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้แก่โจทก์แต่ละราย

นับเป็นระยะเวลากว่า 9 ปี ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ ผู้เสียหายและทีมทนายความต่างเฝ้ารอและต่อสู้ทางกฎหมาย เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและเยียวยาความเสียหายให้ได้มากที่สุด บัดนี้ คดีได้ถึงที่สุดแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 297-308/2562 โดยศาลฎีกาได้พิพากษาในคดีระหว่างโจทก์ที่ 6 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เสร็จเด็ดขาดตามยอมสัญญาประนีประนอมยอม ฉบับลงวันที่20 เมษายน 2561 และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในแต่ละคดี ซึ่งรวมค่าสินไหมทดแทนที่ศาลฎีกากำหนดให้ทุกคดีแล้วรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 25,261,164บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันทำละเมิด เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น และศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562

โดยทนายความผู้รับผิดชอบสำนวนคดีได้ชี้แจงผลคำพิพากษาให้แก่โจทก์พร้อมดำเนินการส่งคำบังคับเพื่อให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลภายใน 30 วัน เรียบร้อยแล้ว

ผู้เสียหายทุกคนเคารพคำพิพากษาของศาลและยอมรับจำนวนเงินที่พึงจะได้รับ ทั้งนี้ ผู้เสียหายจะได้รับการชดใช้เยียวยาจากจำเลยเมื่อใดนั้น ก็ยัง คงเป็นขั้นตอนที่ต้องดำเนินการในขั้นตอนบังคับคดีต่อไป

ผศ.ดร.ปริญญา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้เสียหายต่อจากนี้ไปจะเป็นอย่างไรนั้น ทางศูนย์นิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจะร่วมประชุมกันอีกครั้ง  หลังจากที่ทางฝ่ายจำเลยยังไม่มีการชดใช้เยียวยาความเสียหายตามคำพิพากษาศาลฎีกา

ที่มา  สำนักข่าวไทย