Home ข่าวทั่วไปรอบวัน 3 รมช.เกษตรเวนเจอร์ ประสานมือเร่งแก้ภัยแล้ง

3 รมช.เกษตรเวนเจอร์ ประสานมือเร่งแก้ภัยแล้ง

455
0
SHARE

รมช.เกษตรฯ ระบุน้ำเขื่อนภูมิพลมีน้อย สั่งสถานีสูบน้ำตอนบนกว่า 400 สถานีหยุดสูบน้ำ 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อระบายน้ำสู่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ให้มีน้ำเลี้ยงนาข้าว 6 ล้านไร่จนกระทั่งเก็บเกี่ยว พร้อมระดมเครื่องบินจากทุกเหล่าทัพร่วมทำฝนหลวงทั่วประเทศ

นายประภัตร โพธสุธน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรฯ ประชุมด่วนที่ เขืิ่อนภูมิพล จ.ตาก เพื่อแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วงตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ร่วมมือกับทุกหน่วยงาน มีผู้นำเกษตรกรกว่า 500 คน จาก 22 จังหวัด ร่วมเสนอข้อร้องเรียนให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาต้นทุนทำเกษตรที่ผลผลิตจะเสียหายจากฝนทิ้งช่วง ทั้งข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และพืชอื่น ๆ ที่เกือบแห้งตาย บางรายถึงกับร้องไห้กลางห้องประชุม เพราะอยู่ปลายคลองส่งน้ำ น้ำส่งไปไม่ถึง นอกจากนี้ ขอให้เพิ่มพื้นที่แก้มลิงขนาดใหญ่ เนื่องจากบึงบอระเพ็ด กว๊านพะเยา มีน้ำไม่เพียงพอและประสบปัญหาตื้นเขิน อีกทั้งขอให้กรมชลประทานช่วยสูบน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงมาช่วย เช่น บึงธรรมชาติ บ่อทราย ทำฝายชะลอน้ำ และเร่งทำฝนหลวง นายประภัตร สั่งการผู้แทนกรมชลประทานช่วยเหลือทันที โดยให้จดชื่อและเบอร์โทรศัพท์เกษตรกร เพื่อให้แก้ปัญหาได้ทุกพื้นที่ 

นายประภัตร กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำใช้การในเขื่อนหลัก 4 เขื่อนลุ่มเจ้าพระยา คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำใช้การได้รวมกัน 1,600 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ระบายรวมวันละ 45 ล้าน ลบ.ม. หากยังคงการระบายเช่นนี้จะมีน้ำใช้อีก 40 กว่าวัน ดังนั้น จึงสั่งลดการระบายน้ำลงเหลือ 40 ล้าน ลบ.ม. พร้อมต้องมีแผนจัดสรรน้ำอย่างเข้มงวด จนกว่าฝนจะมาต้นเดือนสิงหาคมนี้ตามคาดการณ์กรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งนี้ ปริมาณฝนเฉลี่ยปี 62 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 5-10 โดยลุ่มเจ้าพระยาปลูกข้าว 6 ล้านไร่ พร้อมกันนี้ให้กรมชลประทานควบคุมการสูบน้ำของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าในแม่น้ำสายหลักเหนือเขื่อนน้ำเช่น หยุดสูบ 3 วัน เพื่อระบายน้ำลงไปถึงลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง อีกทั้งกำชับเกษตรกรที่ยังไม่ทำนาให้ชะลอการเพาะปลูกและขอความร่วมมือพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้วไม่ให้ทำนาต่อเนื่อง

“จะวางแผนจัดสรรน้ำกับทุกหน่วยงานจัดสรรการส่งน้ำเข้าแม่น้ำน้อย ท่าจีน คลองมโนรมย์ และคลองมหาราชให้สลับกันใช้ตามรอบเวร โดยต้องใช้อย่างประหยัดและมีวินัย โดยอาจขอกำลังทหารช่วยดูแลเนื่องจากตอนนี้เริ่มเกิดปัญหาแย่งน้ำในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา คาดว่าไม่จำเป็นต้องงดส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรเหมือนปี 2558 เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนหลักปีนี้มีมากกว่า ซึ่งยืนยันกับเกษตรกรว่าจะหาน้ำให้จนกว่าข้าวนาปี 6 ล้านไร่จะเก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด” นายประภัตร กล่าว

ส่วนการเพิ่มปฏิบัติการฝนหลวงนั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จะประสานทุกเหล่าทัพบูรณาการนำเครื่องบินมาช่วยระดมทำฝนหลวงให้มีประสิทธิภาพเกิดผลสำเร็จได้ปริมาณฝนตกมากขึ้น โดยจะเสนอนายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมให้สั่งการนำเครื่องบินมาร่วมทำฝนหลวงทั่วประเทศภายในสัปดาห์หน้า

“นายกรัฐมนตรีให้นโยบายของรัฐบาลว่าให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งจะนำเข้าสู่ ครม.ให้นายกฯ รับทราบ ทั้งนี้ ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดควรมาประชุมด้วยตนเอง ไม่ใช่ส่งแต่ตัวแทน เพราะไม่เห็นปัญหาเกษตรกร หากปลัดกระทรวงมหาดไทยมา ผู้ว่าฯ มาต้อนรับกันเต็มที่ ซึ่งจะนำเรื่องนี้เรียนนายกรัฐมนตรี เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งเกิดขึ้นเหมือนหนังฉายวนซ้ำ ๆ รวมทั้งจะเพิ่มพื้นที่แก้มลิงกักเก็บน้ำ แต่ติดปัญหาเป็นที่ราชพัสดุ ทำให้ที่ผ่านมาทำไม่ได้ จึงต้องแก้กฎหมาย หากหาพื้นที่เก็บน้ำได้มากช่วงต้นน้ำจะสามารถส่งมาช่วยพื้นที่ปลายน้ำได้” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ทั้งนี้ กรมชลประทานรายงานสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,293 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 33 เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 1,597 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 9 ดีกว่าปี 2558 มีน้ำใช้การได้เพียง 500 ล้าน ลบ.ม. จึงไม่ได้อยู่ในขั้นวิกฤติ โดยกรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอจนถึงฤดูแล้ง 2562/2563

สำหรับเขื่อนภูมิพลอยู่ระหว่างสำรวจและออกแบบโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล เนื่องจากแหล่งน้ำต้นทุนปัจจุบันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นและมีข้อจำกัดในการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ทั้งนี้ อ่างเก็บน้ำของเขื่อนยังมีศักยภาพรองรับปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝนและยังสามารถผันน้ำส่วนเกินจากแม่น้ำยวมและแม่น้ำเมยมาเก็บไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่การเกษตร อุตสาหกรรม และพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีการใช้น้ำเพิ่มขึ้น 325.48 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งยังสามารถช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างได้อีกด้วย  

จากนั้นคณะ รมช.เกษตรฯ ไปยังเขื่อนสิริกิต์ ต.ผาเลือด อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ ซึ่งปัจจุบันมีน้ำ 3,388 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 36 เป็นน้ำใช้การได้ 538 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 8 ทั้งนี้ กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูแล้งปีหน้าให้ได้มากที่สุด จึงขอให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและจริงจัง