นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงข่าว 26 ก.ค.2562 ว่า ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ประกาศเมื่อวันที่ 25 ก.ค.62 ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (เอาท์ลุกซ์) เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มมีเสถียรภาพ เป็นแนวโน้มเชิงบวก เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 54 และคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (เครดิต เรตติ้ง) ที่ บีเอเอ1 หรือเทียบเท่า บีบีบีบวก
ปัจจัยสนับสนุนมาจากการมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค การลงทุนของภาครัฐ แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) วงเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทย และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับไทยมีการใช้นโยบายทางการคลังและการเงินของรัฐบาลที่โปร่งใส มีหนี้รัฐบาล เงินเฟ้อระดับต่ำ และระบบการเงินมีเสถียรภาพ พร้อมกับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 62 – 63 อยู่ที่ 3–3.5%
ไทยยังมีความแข็งแกร่งทางการเงินภาคต่างประเทศ และภาคการคลังสาธารณะ มูดีส์ประมาณไทยจะมีดุลบัญชีเดินสะพัดต่อจีดีพีในปี 62-63 เกินดุล 3-5% และสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อจีดีพีอยู่ที่ 35-40% ซึ่งอยู่ในระดับต่ำช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการตอบสนองต่อความต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงรองรับวิกฤตเศรษฐกิจที่ไม่คาดคิดได้
มูดีส์เห็นว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะอาจส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงยังจะติดตามสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงการแก้ไขปัญหาปัญหาสังคมผู้สูงอายุซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือในอนาคต
เช้า 26 ก.ค.2562 นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ได้คิวอภิปรายในการประขุมรัฐสภา ที่ TOT แถลงนโนบายรัฐบาล ว่า
“การอภิปรายที่ผ่านมาทราบว่าหลายคนให้ความสนใจถึงวินัยการใช้เงินงบประมาณ ผมอยากจะชี้แจงว่า ประการแรก คือ เรื่องการตั้งงบ 4 แสนล้านบาท ในส่วนนี้เป็นงบกลางฉุกเฉิน แบ่งเป็นการบริหาร 11 รายการ อาทิ เงินบำเหน็จ หรือค่ารักษาพยาบาล จริงๆ แล้วรวมงบที่ต้องใช้เพียง 1 แสนล้านบาท ส่วน พ.ร.บ.งบประมาณ ในมาตรา 45 พูดถึงงบประมาณ 5 หมื่นล้านนั้น เงินทุนดังกล่าวเรียกว่าทุนสำรองจ่าย ที่เตรียมไว้ใช้ในเหตุจำเป็น หรือฉุกเฉินเท่านั้น การจะใช้ในแต่ละครั้งต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ที่ผ่านมายังไม่เคยนำเงินส่วนนี้ออกไปใช้ การตั้งงบประมาณขาดดุล รัฐบาลพิจารณาจากสถานการณ์ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและความจำเป็นและสอดรับกับยุทธศาสตร์ ที่ผ่านมาเราใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนให้เติบโต ยกตัวอย่างเมื่อปี 2557 เราได้ใช้งบประมาณขาดดุลจนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในปี 2560 รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นกับประชาชน โดยให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เช่น ธนาคารออมสิน หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ส่วนแหล่งเงินทุนด้านอื่น เช่น นาโนไฟแนนซ์ ที่จะมาเป็นผู้ให้สินเชื่อรายใหม่ แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล อีกทั้งยังให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านการลงทุน หรือบิ๊กดาต้า ให้ง่ายขึ้น ส่วนประเด็นเรื่องหนี้ครัวเรือน ตัวเลขส่วนนี้เติบโตตามเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนของไทยเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้ แต่รัฐบาลก็ยังไม่วางใจในเรื่องนี้จึงต้องดูแลการก่อหนี้อย่างครบวงจร สถาบันจัดอันดับสากล หรือ Moody’s ได้ปรับอันดับความน่าเชื่อถือของไทยว่ามีแนวโน้มไปในเชิงบวก สะท้อนว่าวินัยการเงินการคลังยังดีอยู่”
Matemnews.com
26 กรกฎาคม 2562