Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ ค้านปรับความเร็ว สถิติชี้ชัด’ยิ่งเร็วยิ่งตาย’

ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ ค้านปรับความเร็ว สถิติชี้ชัด’ยิ่งเร็วยิ่งตาย’

446
0
SHARE

ตามที่ รมว.คมนาคม มีนโยบายเร่งด่วนในด้านการจราจร ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการ ปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถ ทุกชนิดบนถนนที่มีช่องจราจร 4 ช่องทางขึ้นไป ให้สามารถใช้อัตราความเร็วได้สูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. จากเดิม 90 กม./ชม. นั้น

  รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่ารู้สึกเป็นห่วงกับนโยบายดังกล่าว เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการชี้ชัดว่า ถ้าหากเกิดอุบัติเหตุรถชนขณะความเร็ว 100 กม./ชม. หรือรถจักรยานยนต์ที่ความเร็ว 80 กม./ชม. โอกาสรอดชีวิตแทบไม่มี ขณะเดียวกันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงติดอันดับโลก ซึ่งจากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางหลวงพบว่า 70% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากการใช้ความเร็วเป็นหลัก ในแต่ละประเทศต่างรณรงค์การลดความเร็วลงเพื่อลดอุบัติเหตุ แต่เรากลับกำลังจะเพิ่มความเร็วขึ้นอีก ในขณะที่เวทีระดับนานาชาติและองค์กรต่างประเทศ ต่างกำลังเฝ้าดูเช่นกันว่า ประเทศไทยมีแนวทางการลดจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างไร

ทั้งนี้ถนนทางหลวงในปัจจุบัน ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับความเร็ว 120 กม./ชม. ทั้งการออกแบบทางเรขาคณิตของถนน การออกแบบทางโค้งดิ่งและโค้งราบ ระยะการมองเห็น ระยะการติดตั้งป้าย อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย เช่น การ์ดเรล ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการชนที่มีความเร็วถึง 100 กม./ชม. ได้ หากปรับเพิ่มความเร็วก็คงต้องเสียเงินงบประมาณเปลี่ยนใหม่กันหมด ยังไม่นับสภาพแวดล้อมของถนนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่เต็มไปด้วยทางเข้าออก จุดกลับรถ มีรถตัดหน้าได้ตลอดทั้งรถบรรทุกและรถจักรยานยนต์ที่ออกจากซอย ดังนั้นการควบคุมรถที่มีความเร็วสูงยิ่งทำได้ยากขึ้น

     อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ ไม่ได้แย้งการแก้ไขกฎหมายความเร็วไปทุกประเด็น แต่อยากให้คำนึงว่าการเพิ่มความเร็วต้องควบคู่ไปกับความปลอดภัย ถนนที่พอจะทำได้อาจมีไม่กี่เส้นทาง เช่น มอเตอร์เวย์ ที่เป็นถนนระบบปิด มีแนวป้องกันตามมาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันก็อนุญาตให้ใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. อยู่แล้ว ,ส่วนเส้นทางอื่นที่พอเป็นไปได้เช่น ถนนพหลโยธิน ช่วงวังน้อย ที่มีช่องทางด่วนและคู่ขนาน หรือถนนเอเชียที่มี 8 ช่องทาง หากปรับปรุงกายภาพให้ได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยก็อาจจะพอเป็นไปได้ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดความเร็วเท่ากันหมดตลอดเส้นทาง อาจทำเป็นช่วงๆ ในแต่ละจังหวัด

     “เชื่อว่าทุกคนอยากถึงที่หมายเร็วหมด แต่อยากให้มองอีกด้านว่าหากเกิดการสูญเสียขึ้นมา คงไม่คุ้มกัน หากจะเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ก็คงต้องเปรียบเทียบวินัยการใช้รถใช้ถนนร่วมกันด้วย” รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าว