วันที่ 7 ส.ค.62 มีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า จากกรณีไต่สวนคดีปลูกปาล์มน้ำมันอินโดนีเซีย อันเนื่องจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัท พีทีที.กรีนเอเนอร์ยี่ หรือ พีทีที.จีอี ลงทุนโครงการปลูกปาล์มน้ำมันที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นคดีข้ามชาติ ที่ ป.ป.ช.ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานในการตรวจสอบทุจริต ภายใต้คณะกรรมการประสานงานและเร่งรัดคดีทุจริตระหว่างประเทศ ซึ่งมี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.เป็นประธาน ซึ่งมีหน่วยงานประกอบด้วย อัยการสูงสุด ป.ป.ง. ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ป.ป.ท. กรมสนธิสัญญาและกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บังคับการกองการต่างประเทศของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ
ทั้งนี้ระหว่างการไต่สวน ป.ป.ง.ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินทั้งในและต่างประเทศ โดยพบความผิดปกติในกรณีการจ้างค่านายหน้าที่ดินแพงเกินจริง พบว่าผู้บริหารระดับสูงของปตท.มีส่วนรู้เห็นและมีการโอนเงินเข้าบัญชีคนไทยด้วย หนึ่งในนั้นเป็นเครือญาติของผู้บริหารระดับสูงในป.ป.ช. ทำให้ทาง ป.ป.ง. ส่งหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการถึง ป.ป.ช.ทันทีเพื่อให้ตรวจสอบไปถึงการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้บริหารระดับสูง ป.ป.ช.ดังกล่าว จากนั้น ป.ป.ช.ได้ตั้งองค์คณะ(กรรมการป.ป.ช.9 คน)ขึ้นมาไต่สวนกรณีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินฯอันเป็นเท็จ หรือปกปิดทรัพย์สินฯที่ควรแจ้งต่อ ป.ป.ช. จากการไต่สวนพบว่าเกิดความผิดปกติในการยื่นบัญชีทรัพย์สินฯของคู่สมรสผู้บริหารคนดังกล่าว โดยพบว่าไม่ได้แจ้งทรัพย์สินมูลค่ากว่า 260 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินในบัญชีทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ด้วย
ล่าสุด คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารระดับสูงดังกล่าว ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินฯอันเป็นเท็จ หรือปกปิดทรัพย์สินฯที่ควรแจ้งต่อ ป.ป.ช.และให้ส่งสำนวน ไปยังศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยคดีดังกล่าวมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และนอกจากจะส่งสำนวนไปยังศาลแล้ว ต้นสังกัดต้องพิจารณาลงโทษทางวินัย โดยอาจให้พ้นจากตำแหน่งด้วยการไล่ออก หรือให้ออก อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีสิทธิ์ไต่สวนหากพบว่าเป็นกรณีร่ำรวยผิดปกติและดำเนินการยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน
ที่มา ไทยโพสต์