นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ประธานวิปฝ่ายค้าน พร้อมด้วยผู้แทน 7 พรรคฝ่ายค้าน นำรายชื่อ 214 ส.ส. 7 พรรคฝ่ายค้าน ยื่น ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย เมื่อ 8.50 น.วันที่ 16 ส.ค.2562 เสนอญัตติ “ขอเปิดอภิปรายทั่วไป” เพื่อซักถามข้อเท็จจริง และเสนอต่อคณะรัฐมนตรี กรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม นำครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ไม่ครบถ้วน ด้วยถ้อยคำตามมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถือว่า เป็นการจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ อันเป็นแบบแผน และขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ เป็นการกระทำต่อหน้าองค์พระมหากษัตริย์ผู้ใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทยผ่านทางรัฐสภา ครม. และศาล
กรณีนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ชัดต่อประชาชนทั่วไป และพล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับ แต่ก็ยังไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง กลับเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดิน จึงเกิดเป็นปัญหาเกี่ยวกับการเข้ารับหน้าที่ จนส่งผลต่อเนื่องไปถึงความถูกต้องสมบูรณ์ของการแถลงนโยบายของครม.ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25-26 กรกฎาคม 2562
อีกทั้งการแถลงนโยบายในครั้งนั้น ก็ชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบายไม่ละเอียดครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 162 อีกด้วย
จึงขอเสนอเปิดอภิปรายทั่วไป เพราะหากปล่อยเนิ่นช้าไปอาจส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงต่อการบริหารราชการแผ่นดินได้
หนังรับญัตติแล้ว นายชวน กล่าวแก่คณะส.ส.ฝ่ายค้าน ว่า กระบวนการตามมาตรา 152 เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปถือเป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของเดิมไม่มีกำหนดไว้ ระเบียบตามมาตราดังกล่าวยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จ มีแต่เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จึงต้องอนุโลมตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเดิมไปก่อน
จากนี้ตนจะนำไปมอบให้ นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ในฐานะรับผิดชอบเรื่องกระทู้และญัตติตรวจสอบความถูกต้อง หากไม่มีอะไรต้องแก้ไข ตนจะแจ้งให้ผู้เสนอญัตติทรายภายใน 7 วันก่อนที่จะนำบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระเป็นเรื่องด่วน และแจ้งให้ครม. ทราบต่อไป คาดว่า น่าจะเปิดอภิปรายทั่วไปตามญัตตินี้ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ การพิจารณาต้องยึดตามข้อกฎหมายเป็นหลัก รัฐสภาไม่มีแนวทางอื่นนอกจากทำตามข้อบังคับการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จะมาตอบเองหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปถามรัฐบาลเอง อย่างกระทู้ถาม ผมเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรต้องมาตอบ เพราะตามหลักการ การที่ไม่มาชี้แจงต่อสภาจะต้องแจ้งถึงเหตุผลตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 150 กำหนด หากครม.เห็นว่า เรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะจะกระทบต่อความมั่นคงก็ต้องแจ้งมา ตนจะให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร แจ้งไปยังท่านนายกฯให้ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะก่อนหน้านี้ท่านนายกฯไม่เคยแจ้งเหตุผลอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรมายังสภาฯเลย”
นายสุทิน คลังแสง แถลงแก่นักข่าว ว่า หลังจากนี้ส.ส.พรรคฝ่ายค้านต้องรอการพิจารณาของประธานสภาฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไร ก่อนที่สภาฯจะเปิดประชุมเพื่ออภิปรายทั่วไป หากพล.อ.ประยุทธ์ แก้ไขกรณีการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนตามที่เคยระบุไว้ให้ลุล่วง และคลายกังวล พรรคฝ่ายค้านพร้อมถอนญัตตินี้ แต่หากนายกฯไม่ดำเนินการแก้ไข และปฏิเสธที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสภาฯ ตามญัตตินี้ จะถือว่านายกฯจงใจเลี่ยงการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ กระบวนการต่อไป พรรคฝ่ายค้านอาจจะพิจารณาช่องทางเอาผิดพล.อ.ประยุทธ์ ทั้งกระบวนการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีการกระทำสิ่งที่ขัดต่อมาตรฐานจริยธรรม หรือช่องทางของสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อไม่ไว้วางใจนายกฯ
ตนยืนยันว่ากรณีการชี้แจงญัตตินี้ นายกฯไม่สามารถเลี่ยงการชี้แจงหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นมาชี้แจงแทนตัวเองได้ รวมถึงไม่สามารถใช้ข้ออ้างกรณีที่มีบุคคลยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบกรณีดังกล่าวและต้องรอผลการตรวจสอบ
การใช้เวลาอภิปรายในญัตตินี้ ไม่สามารถเรียกว่าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเนื้อหาหรือรายละเอียดไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวกับการทุจริต หากญัตติได้รับการบรรจุในวาระประชุม พรรคฝ่ายค้านจะขอเวลาอภิปราย อย่างน้อย 2 วัน และมากสุดไม่เกิน 3 วัน จะเป็นสิทธิของส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่จะเป็นผู้อภิปรายได้เท่านั้น ส.ส.พรรครัฐบาลไม่มีสิทธิอภิปราย ส่วนที่ต้องใช้เวลาจำนวนมากนั้น เนื่องจากมีรายละเอียดที่ต้องซักถาม และมีรายละเอียดที่ต้องได้รับคำชี้แจง โดยเฉพาะกรณีการแถลงนโยบายของครม.ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 – 26 กรกฎาคม ที่ต้องระบุรายละเอียดของแหล่งที่มารายได้ซึ่งจะนำมาใช้ในนโยบายด้านต่างๆ
matemnews.com
16 สิงหาคม 2562