Home ข่าวทั่วไปรอบวัน พายุทวีความรุนแรงเข้าไหหลำ – ไทยฝนตกชุกเพิ่มขึ้น

พายุทวีความรุนแรงเข้าไหหลำ – ไทยฝนตกชุกเพิ่มขึ้น

530
0
SHARE
Cr. เอก ศุภกร

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือน “พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 2 – 4 กันยายน 2562)” ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 01 กันยายน 2562

เมื่อค่ำวานนี้ (1 ก.ย. 62) พายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีจุดศูนย์กลางอยู่ห่างออกไปทางตะวันออกของเกาะไหหลำ ประเทศจีน ประมาณ 300 กิโลเมตร หรือที่ ละติจูด 19.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 113.5 องศาตะวันออก ความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 28 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุระดับ 3 (พายุโซนร้อน) และเคลื่อนตัวเข้าสู่เกาะไหหลำ ในวันนี้ ( 2 ก.ย. 62)

มีผลทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ สำหรับผู้ที่จะเดินทางไปเกาะไหหลำ ประเทศจีน และประเทศเวียดนามตอนบนควรตรวจสอบสภาพอากาศก่อนเดินทางด้วย 

        สำหรับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ยังคงมีกำลังแรงต่อเนื่อง ทำให้ภาคใต้และภาคตะวันออกมีฝนมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนงดออกจากฝั่ง ขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ในส่วนของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี 

ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพและปริมณฑล มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี และอุทัยธานี

ภาคตะวันออก มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีเมฆมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นไปทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนบริเวณตั้งแต่จังหวัดกระบี่ลงมาทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร