Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ดร. มานะ นิมิตมงคล  โพสต์ถาม … คดียาเสพติด – ถึงตรงนี้คุณคิดว่าท่านนายกประยุทธ์จะเลือกแบบไหนครับ..

ดร. มานะ นิมิตมงคล  โพสต์ถาม … คดียาเสพติด – ถึงตรงนี้คุณคิดว่าท่านนายกประยุทธ์จะเลือกแบบไหนครับ..

435
0
SHARE

 

เฟชบุ้ค มานะ นิมิตรมงคล

ถึงเวลานายกฯ ต้องชัดเจน ว่าจะยึดมั่นในรัฐธรรมนูญและธรรมาภิบาลเพียงใด กรณี รมช.กระทรวงเกษตรฯ และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เคยพัวพันคดียาเสพและติดคุกในต่างประเทศ

 

เรื่องนี้คนที่จงใจตีความตามตัวอักษรว่าการติดคุกในต่างประเทศไม่เกี่ยวกับกฎหมายไทย ฟังดูมีเหตุผลเพราะเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตย แล้วเรื่องนี้ก็ไม่เคยมีคำพิพากษาหรือกฎหมายอะไรที่ระบุว่า การถูกศาลต่างประเทศตัดสินให้จำคุกที่มิได้เกิดขึ้นในอาณาเขตประเทศไทย จะกลายเป็นลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญฯ มิให้บุคคลนั้นสมัคร ส.ส. และเป็นรัฐมนตรีได้

 

แต่มีเหตุผลอีกด้านหนึ่งที่เสนอให้ยึดถือ “เจตนารมณ์” ของรัฐธรรมนูญ ผลประโยชน์ของส่วนรวม รวมถึงความรู้สึกและความศรัทธาของประชาชนที่จะมีต่อตัวบุคคลผู้มาใช้อำนาจแทนปวงชนตามระบอบประชาธิปไตยเป็นสำคัญ

 

แนวคิดนี้สอดคล้องกับความเห็นของกระทรวงมหาดไทยที่หารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 5 (พ.ศ. 2525) ตามที่ปรากฏในเอกสารของรัฐสภา* สรุปโดยย่อว่า

 

“เจตนารมณ์ของกฎหมายที่กำหนดห้ามบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษา..เข้ารับสมัครรับเลือกตั้ง มูลเหตุน่าจะมาจากบุคคลที่เคยถูกจำคุกนั้น ความรู้สึกของคนในสังคมทั่วไปไม่ยอมรับนับถือ โดยเฉพาะผู้ที่จะมาเป็น ส.ส. จะต้องเป็นผู้มีความประพฤติพร้อมในทุกด้าน ปราศจากมลทินมัวหมอง..” และ “หากตีความให้การจำคุก..หมายถึงการจำคุกในประเทศไทยเพียงกรณีเดียวย่อมเป็นผลให้..(ผู้นั้น)..มาใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย..”

 

คณะกรรมการกฤษฎีกาฯ เห็นด้วยโดยยึดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและผลจากการกระทำของบุคคลเป็นสำคัญ

 

ผมสนับสนุนแนวคิดแบบหลังนี้ เพราะเป็นเรื่องธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบทางการเมืองของผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ แนวคิดนี้จึงเป็นการปกป้องสังคม

 

ถึงตรงนี้คุณคิดว่าท่านนายกประยุทธ์จะเลือกแบบไหนครับ..

 

ดร. มานะ นิมิตรมงคล

เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

 

หมายเหตุ *บทความวิชาการเรื่อง “โทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศเป็นลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญฯ ไทยหรือไม่” โดยกลุ่มงานคณะกรรมาธิการวิสามัญ 3 สำนักกรรมาธิการ 2 รัฐสภา, ความยาว 8 หน้ากระดาษ

 

matemnews.com 

18 กันยายน 2562