Home ประเด็นร้อนโซเชียล เมื่อคนรุ่นใหม่ หันหา “ทวิตเตอร์” เสมือน “ผนังห้องน้ำ” เผยแนวคิดที่ถูกปิดกั้น!!

เมื่อคนรุ่นใหม่ หันหา “ทวิตเตอร์” เสมือน “ผนังห้องน้ำ” เผยแนวคิดที่ถูกปิดกั้น!!

1884
0
SHARE

เทรนด์บนทวิตเตอร์ในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์ที่ปัญญาชน-นักวิชาการบางคนเรียกว่า “สิ่งที่ไม่เคยได้เห็นก็จะได้เห็น”

ตั้งแต่ค่ำของวันที่ 1 ต.ค. ต่อเนื่องมาถึงเช้าวันที่ 2 ต.ค. แฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ ติดอันดับเทรนด์บนทวิตเตอร์ในประเทศไทย มีผู้ติดแท็กนี้กว่า 7 แสนทวีต ต่อมาช่วงบ่ายวันที่ 2 ต.ค. แฮชแท็ก #SaveTwitterTH ได้ขึ้นเทรนด์อันดับหนึ่งแซงหน้า #ขบวนเสด็จ เนื่องจากระบบทวิตเตอร์ใช้งานไม่ได้ ผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนมากในไทยเชื่อมโยงกับแฮชแท็ก #ขบวนเสด็จ แต่ในเวลาต่อมาทวิตเตอร์แจ้งว่า ระบบล่มทั่วโลก ก่อนได้รับการแก้ไขและกลับมาใช้งานได้ปกติ

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าปรากฏการณ์นี้กำลังบอกว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทางการเมืองครั้งสำคัญ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของความคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อธรรมเนียมเก่า ๆ ที่ประพฤติปฏิบัติมาโดยไม่ถูกตั้งคำถาม

แฮชแท็กว่าด้วยการเมืองพุ่งติดเทรนด์ยอดนิยมอันดับหนึ่งหลายเรื่อง เช่น #ขบวนเสด็จ #โตแล้วเลือกเองได้ พร้อม ๆ กับ การเติบโตขึ้นของบัญชีผู้ในทวิตเตอร์ในไทยอย่างรวดเร็ว จาก 2.7 ล้านบัญชี ในปี 2557 เป็น 4.1 ล้านบัญชี ในปี 2562

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.ประจักษ์ อธิบายถึงเบื้องหลังการเติบโตที่รวดเร็วของสื่อสังคมนี้ว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับกระแสความคิดใหม่ ๆ ไม่ได้โตมากับธรรมเนียมวัฒนธรรมแบบเดิม เพราะฉะนั้นถ้าเห็นเรื่องที่แปลกหูแปลกตา เขาก็จะตั้งคำถาม และคนรุ่นใหม่เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงครั้งแรก ในการเลือกตั้งเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าวว่า ทวิตเตอร์มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น เป็นพื้นที่ที่ไม่มีต้นทุน ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของแอคเคาท์ได้มากเท่าที่ต้องการ และไม่ต้องเปิดเผยตัวตน

“ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญในการคุยประเด็นเซ็นซิทีฟ เพราะทำให้คนรู้สึกปลอดภัยปิดบังตัวตนได้ ในสังคมที่ปิดกั้นสูงมีกฎหมายที่รุนแรงในการห้ามแสดงความคิด คนจะกล้าก็ต่อเมื่อคุณสามารถแสดงความคิดได้ โดยไม่เปิดเผยตัวตน”

ผศ. ดร. ประจักษ์ชี้ว่า กลไกนี้เองที่ทำงานคล้ายกับการที่มีคนเขียนตามฝาผนังห้องน้ำหรือกราฟิตี้ตามพื้นที่สาธารณะในอดีต

“ทวิตเตอร์ คือ ผนังห้องน้ำในศตวรรษที่ 21 แต่มันเป็นฝาผนังนี้เข้าถึงคนได้ล้าน ๆ คน ไม่ใช่แค่ศิลปินคนสองคนพ่นกราฟิตี้บนกำแพง”

นักวิชาการรัฐศาสตร์ผู้นี้กล่าวอีกว่า ลักษณะเด่นของทวิตเตอร์ คือ ทุกคนสร้างประเด็นได้ สร้างเทรนด์ได้ โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนสร้าง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีชื่อเสียง ส่วนใหญ่เราคุยกับคนแปลกหน้าที่สนใจประเด็นอะไรบางอย่างร่วมกัน

ในเมืองไทย ทวิตเตอร์ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีเสรีภาพมากที่สุด ยังไม่ถูกควบคุมจากรัฐมากนัก เมื่อเทียบกับสื่อหลัก เช่น วิทยุ โทรทัศน์ “ยิ่งสังคมไหนปิดกั้นเยอะ ทวิตเตอร์ก็ยิ่งเติบโตสูง” ผศ.ดร. ประจักษ์ ระบุ และยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์ ตุรกี อินโดนีเซีย หรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เอง ผู้คนเริ่มระบายความอึดอัดในช่องทางนี้เป็นอันดับแรก

วริศรา ศรเพชร ผอ. change.org ประจำประเทศไทย ให้ความเห็นกับบีบีซีไทย ว่า สถิติการใช้งานทวิตเตอร์ของคนไทยสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะ 2 ปี ที่ผ่านมา โตราว 30 เปอร์เซ็นต์ อัตราการโตสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจทำให้เราเห็นว่า มีเรื่องต่างๆ “ระเบิด” ในทวิตเตอร์ กับอีกส่วนคนใช้เฟซบุ๊กจะอายุมากขึ้นเรื่อย ๆ เด็ก ๆ หันไปใช้ทวิตและสแนปแชท เพราะมันเป็นบทสนทนาที่ทันเวลากว่า และสั้นกระชับ ถ้าดูสัดส่วนของคนที่ใช้ทวิตเตอร์ เกือบครึ่งคืออายุ 16-24 ปี เด็กกว่าเมื่อเทียบกับเฟซบุ๊ก

วริศรา ศรเพชร ผอ. change.org ประจำประเทศไทย

ที่มา บีบีซีไทย