Home ข่าวทั่วไปรอบวัน กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม – อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจ

กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม – อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจ

573
0
SHARE

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม  ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการตุลาการ(ก.ต.)  แถลงข่าวเมื่อบ่าย 5 ต.ค.2562  ว่าด้วยความคืบหน้ากรณี  “ นายนายคณากร เพียรชนะ”  ผู้พิพากษาใช้อาวุธปืน ยิงหน้าอกตัวเอง 1 นัด  ในห้องพิจารณาคดีศาลจังหวัดยะลา เมื่อใกล้เที่ยง 4 ต.ค.2562 ว่า

 

“ได้รับรายงานข้อเท็จจริง  จากนายเพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 และจาก  นายอนิรุธ ใจเที่ยง  ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดยะลา  เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงต่อที่ประชุม ก.ต.ในวันที่ 7 ต.ค.2562 และได้รายงานต่อ  นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา ตามลำดับแล้ว  ขั้นตอนหลังจากนี้เมื่อรายงานที่ประชุม ก.ต.ไปแล้ว ก็ดูว่า ก.ต.จะพิจารณาอย่างไร ตนได้เตรียมรายละเอียด เช่นคำแถลงการณ์ต่างๆของ นายคณากร เพียรชนะ   เพื่ออธิบายแก่ก.ต. และต้องรับข้อมูลจากอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องอีกด้วย”

นักข่าวถามว่า  มีการเเทรกเเซงคดีจนเป็นเหตุให้ยิงตัวเองหรือไม่

นายสราวุธ ตอบว่า “คำพิพากษาถือเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยก่อนการอ่านคำพิพากษาได้ ไม่เช่นนั้นจะรู้ผลล่วงหน้า และเป็นวิธีปฏิบัติของศาลที่จะปรึกษาหารือกันได้ ในกระบวนการทำงาน  คดีที่มีโทษสูง คดีสำคัญ กฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11 (1) ให้อำนาจ อธิบดีฯนั่งพิจารณา  และพิพากษาคดีใดๆของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดและมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้  รวมทั้งสามารถให้คำแนะนำแก่ผู้พิพากษาในศาลนั้น  ในข้อขัดข้องเนื่องในการปฏิบัติหน้าของผู้พิพากษา  และใน มาตรา 14 ระบุไว้ด้วยว่า  ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วยผู้หนึ่ง โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง รวมทั้งได้ให้อำนาจรองอธิบดีผู้พิพากษาภาคไว้ด้วย  เพราะปริมาณคดีมีมาก  

ดังนั้นอธิบดี จึงมีสิทธิที่จะตรวจสำนวน คำพิพากษา ถึงแม้ไม่ได้ขึ้นไปนั่งพิจารณาคดี  ก็มีข้อแนะนำได้ หากการเขียนคำพิพากษามีจุดบกพร่อง ก็แนะนำให้แก้ไขได้ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจไว้   เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน  แต่อธิบดีฯไม่สามารถไปก้าวก่ายการตัดสินของผู้พิพากษาได้ และไม่สามารถแทรกแซงการทำงานได้ เพราะหากผู้พิพากษาไม่เห็นตาม  ก็สามารถยืนยันความเห็นของตัวเองได้ 

ตัวอย่างในคดีที่ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ถูกฟ้องคดี 157 ท่านชีพ จุลมนต์ อดีตประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาในขณะนั้น   เคยมีความเห็นแตกต่างจากองค์คณะว่า  ควรลงโทษ แต่องค์คณะเห็นว่า ควรพิพากษายกฟ้อง  อธิบดีฯศาลจึงมีความเห็นว่า  ให้เอาไปทบทวน ทางองค์คณะ ยืนยันเหมือนเดิมว่าให้ยกฟ้อง นายชีพ อธิบดีฯศาลอาญา ขณะนั้นจึงทำความเห็นแย้งไป  

สำหรับในศาลภาค 9 มีคดีความมั่นคงจำนวนมาก การที่อธิบดีฯ มีอำนาจตรวจสำนวน  และทำความเห็นแย้งได้ จึงถือเป็นเรื่องปกติในกระบวนการทำงาน  เปรียบเสมือนการตรวจให้มีความรอบคอบได้มาตรฐาน ถ้าผู้พิพากษาที่พิจารณาสำนวนยังยืนยันคำพิพากษาก็ต้องเป็นไปตามที่เขียนไว้อยู่เเล้ว”

“ผมขอบอกไว้เลย   ในศาลใครจะมาสั่งผู้พิพากษาที่เป็นองค์คณะในการตัดสินคดี มันสั่งไม่ได้  นี่ไม่ใช่เรื่องอำนาจบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ดุลพินิจของเจ้าของสำนวนจะมีความเป็นอิสระ เรื่องนี้เป็นมานานเเล้ว เเละไม่ใช่เฉพาะเรื่องภายในเท่านั้น ในทางภายนอกไม่ว่าจะเป็นฝ่าย ตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายบริหารยิ่งสั่งเราไม่ได้”

 

นักข่าวถาม   การที่ผู้พิพากษายิงตัวเองในห้องพิจารณา  โดยบอกว่ามีเหตุจากการทำคำพิพากษา   จะกระทบต่อผู้พิพากษาอื่นๆหรือไม่  นายสราวุธ ตอบ

 

“ ผู้พิพากษาทั่วประเทศมีขวัญกำลังใจดีไม่มีปัญหาอะไร เรื่องอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษามีกำหนดชัดเจนในกฎหมายพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ตนก็เป็นผู้บรรยายกฎหมายวิชาพระธรรมนูญศาลในเนติบัณฑิตยสภา  ส่วนจะมีการแก้ไขกฎหมายพระธรรมนูญศาลหรือไม่ ให้รอฟังผลการประชุม ก.ต.ก่อน ผมขอย้ำว่าผู้พิพากษามีความเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซงแน่นอน”

 

matemnews.com 

5 ตุลาคม 2562