Home ข่าวทั่วไปรอบวัน เศรษฐีขี่เจ็ทสกีดูวาฬบรูด้าในทะเลหาดเจ้าราญโดนไล่กระเจิงไปแล้ว

เศรษฐีขี่เจ็ทสกีดูวาฬบรูด้าในทะเลหาดเจ้าราญโดนไล่กระเจิงไปแล้ว

420
0
SHARE

เฟชบุ้ค  กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

https://bit.ly/31c3DX7

“รมว.ทส. ถามจิตสำนึกกลุ่มเจ้ทสกี รบกวนวาฬบรูด้าทะเลเพชรบุรี”
ตามที่มีข่าวกลุ่มนักท่องเที่ยวไฮโซขับเจ็ทสกีกว่า ๒๐ ลำ ขับวนบริเวณหาดเจ้าสำราญ จ.เพชรบุรี เพื่อชมวาฬบรูด้า ในช่วงเทศกาล “ชมวาฬ ทานปู” ซึ่งทาง จ.เพชรบุรี ร่วมกับเทศบาลตำบลหาดเจ้าสำราญ และชมรมเรือประมงชายฝั่ง จัดให้บริการนักท่องเที่ยวนั่งเรือชมวาฬบรูด้าในท้องทะเลอ่าวไทยรูปตัว ก. จนเป็นที่นิยมจากนักท่องเที่ยวทั่วไป นั้น
…..นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวแสดงความกังวลในกรณีดังกล่าว ที่กลุ่มนักท่องเที่ยวขับเจ็ตสกีกว่า ๒๐ ลำ ชมวาฬบรูด้าจนอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ฝูงวาฬและถูกรบกวนการหากินจากเสียงเครื่องยนต์ ทั้งนี้ ตนทราบเรื่องนี้จากรายงานด่วนของที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ นายยุทธพล อังกินันทน์ และได้สั่งการให้ที่ปรึกษา รมว.ทส. กำชับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เพิ่มความเข้มงวดในการดูแลฝูงวาฬบรูด้าที่มาหากินบริเวณชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี พร้อมให้เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้นักท่องเที่ยวถึงวิธีการชมวาฬที่ถูกต้องและไม่รบกวนวิถีชีวิตฝูงวาฬ ตามแนวทางการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติอย่างยั่งยืน “สำหรับฝูงวาฬบรูด้า ที่มาหากินที่ชายฝั่งทะเลเพชรบุรี ถือเป็นของขวัญที่มีค่าจากธรรมชาติ ฉะนั้นแล้ว นักท่องเที่ยวที่ต้องการชมวาฬบรูด้า ต้องช่วยกันดูแลรักษา และปฏิบัติตามกฏระเบียบในการเยี่ยมชมด้วย ต้องคิดถึงคนอื่นและชาวบ้านในพื้นที่ที่อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวที่เกิดจากฝูงวาฬบรูด้า การเข้าไปรบกวนวิถีชีวิต หรือสร้างความตกใจให้ฝูงวาฬที่มีพฤติกรรมละเอียดอ่อนเท่ากับเป็นการขับไล่วาฬ ไม่ให้กลับมาที่นี่อีก” นายวราวุธกล่าว พร้อมยกตัวอย่าง เกาะเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ ที่เป็นแหล่งดำน้ำชมฉลามวาฬที่มีชื่อเสียงระดับโลก ว่ามีมาตรการที่เข้มงวดในการดูแลรักษาฝูงฉลามวาฬ โดยภาครัฐได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นกฏระเบียบต่าง ๆ ตั้งแต่การห้ามทาครีมกันแดดลงดำน้ำ เพื่อป้องกันสารเคมีเจือปนน้ำทะเล ไปจนถึงการห้ามนำเรือติดเครื่องยนต์ออกไปชมฝูงฉลามวาฬ ต้องจ้างเรือพายเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะลดความเสี่ยงในการรบกวนฝูงวาฬแล้ว ยังสร้างรายได้จากการรับจ้างให้ชาวบ้านท้องถิ่นด้วย ทั้งนี้ จุดชมวาฬบรูด้า ที่เพชรบุรี ก็สามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่มีชื่อเสียงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เช่นเดียวกัน โดยตนจะประสานงานกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เพื่อหารือในเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ขอให้นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาชมวาฬบรูด้า มีจิตสำนึกในการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ด้วย เนื่องจาก การขับเจ็ทสกีวนรอบบริเวณที่อยู่อาศัยของวาฬบรูด้า จะสร้างผลกระทบโดยตรงต่อการหาอาหารและการอยู่อาศัยของวาฬในบริเวณดังกล่าว อีกทั้ง อาจเกิดเหตุที่เป็นอันตรายต่อวาฬบรูด้า จึงอยากขอร้องให้หยุดการกระทำดังกล่าวอย่างเด็ดขาด
…..กรณีนี้ กรม ทช. โดยอธิบดีโสภณ ทองดี สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่๓ (เพชรบุรี) ลงพื้นที่โดยด่วน โดยให้ออกเรือไปตักเตือน จากนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวไม่ให้นำขบวนเจ็ตสกีไปรบกวนวาฬอีก พร้อมประสานหน่วยงานเจ้าท่าในพื้นที่เพื่อตรวจสอบใบอนุญาตการใช้เรือและใบนายท้ายเรือของกลุ่มผู้ขับเจ็ทสกี อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ขับเจ็ทสกีได้ทราบและเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและพร้อมหยุดการกระทำดังกล่าวอย่างเด็ดขาด
…..อธิบดีกรม ทช. กล่าวถึงชีววิทยาของ “วาฬบรูด้า” ว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเล หายใจด้วยปอด เป็นวาฬชนิดที่ไม่มีฟัน แต่มีซี่กรองอาหาร มีลักษณะเด่น คือ มีสันนูน ๓ สันบนส่วนหัว ผิวหนังเรียบ สีเทาดำ ท้องสีอ่อนหรือสีชมพู ขนาดโตเต็มวัยมีความยาวประมาณ ๑๔-๑๕ เมตร น้ำหนักประมาณ ๒๐ ตัน ให้ลูกครั้งละ ๑ ตัว ทุกๆ ๒ ปี ปัจจุบันวาฬบรูด้าได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์สงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๖๒ ในพื้นที่อ่าวไทยมีประชากรวาฬบรูด้าประมาณ ๕๐ ตัว จากการสำรวจในแต่ละวัน อาจพบได้ตั้งแต่ ๑ ตัว หรือมากถึง ๑๐ ตัว ขึ้นกับปริมาณของปลาที่เป็นอาหาร
…..สำหรับข้อปฏิบัติในการชมวาฬบรูด้าที่สำคัญ คือ ความเร็วเรือต้องต่ำกว่า ๗ น็อต ในรัศมี ๔๐๐ เมตร และต่ำกว่า ๔ น็อต ในรัศมี ๑๐๐-๓๐๐ เมตร จำนวนเรือไม่เกิน ๓ ลำ โดยรอบพื้นที่ นอกจากนี้ การสร้างเสียงรบกวนทั้งจากเหนือน้ำและใต้น้ำ จะส่งผลกระทบต่อวาฬ ดังนั้น จึงไม่ควรกระทำการใด ๆ ให้เกิดเสียงดังมาก เช่น การเร่งเครื่องยนต์เรือ การใช้เครื่องยนต์ขนาดใหญ่ และการส่งเสียงดังของนักท่องเที่ยว
…..สำหรับโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๖๒ ระบุว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการล่า โทษสำหรับสัตว์ป่าสงวนคือ จำคุก ๓-๑๕ ปี ปรับ สามแสน – หนึ่งล้าห้าแสนบาท และ ในกรณีครอบครอง มาตรา ๑๗ ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่า โทษครอบครองคือจำคุกไม่เกิน ๕ ปี ปรับไม่เกินห้าแสนบาท หากกลุ่มเจ้ทสกีมารบกวนวาฬอีก ทางกรมฯก็จะดำเนินการตามกฎหมายนี้อย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในพื้นที่และกลุ่มผู้ให้บริการนักท่องเที่ยวช่วยเป็นหูเป็นตา หากพบเห็นเหตุการณ์หรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขอให้แจ้งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อจะได้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ อธิบดีกรม ทช. จะลงพื้นที่ในวันเสาร์นี้ เพื่อติดตามและพูดคุยกับชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมจะกำหนดแนวทางและมาตรการที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อวาฬบรูด้าและทรัพยากรทางทะเลอื่น ๆ

 

matemnews.com

15 ตุลาคม 2562