Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ฝ่ายพลเอกประยุทธ์ถามกลับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์

ฝ่ายพลเอกประยุทธ์ถามกลับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์

392
0
SHARE

 

 

ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ  ประเด็น คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวช เป็นประธาน  เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม มาชี้แจง หลายเรื่อง  โดยเช้าวันที่ 29 ต.ค.2562  คณะนักข่าวสภานำเรื่องนี้สัมภาษณ์ นายชวน  หลีกภัย  ประธานสภาผู้แนราษฎร  ตอบว่า

 

“ส่วนตัวคิดว่า ใครที่ได้รับเชิญ  หรือแม้กระทั่งรัฐบาล ย่อมต้องให้ความร่วมมือในการทำงานของกรรมาธิการฯ แต่ผู้ที่เชิญก็ต้องมีวุฒิภาวะในการเชิญเช่นกัน ต้องให้เกียรติผู้รับเชิญ เพราะเขาไม่ได้เป็นลูกน้อง ไม่ใช่เชิญมาข่มขู่คุกคาม ต้องเชิญมาตามเงื่อนไขของกฎหมาย คือให้ข้อเท็จจริงและความเห็น เพราะระบบเป็นอย่างนี้ ก็ต้องเคารพ  การเชิญบุคคลมาชี้แจง ต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมาธิการแต่ละชุด ไม่ใช่เชิญเปะปะ ต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ตัวเอง ส่วนเชิญใครนั้น ก็เป็นสิทธิของผู้เชิญ ส่วนผู้รับเชิญสำหรับผมแนะนำว่า ควรให้ความร่วมมือ มาชี้แจง ซึ่งท่านนายกฯ และผบ.ทบ. ก็อยู่ในข่ายที่สามารถเชิญมาชี้แจงได้ เพราะผมเคยกราบเรียนนายกฯว่า เวลามีอะไรก็ให้ท่านมาสภา เพราะเราอยู่ในระบบนี้ ก็ต้องเคารพระบบ แต่ถ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวกับกรรมาธิการฯชุดนั้นๆ ก็ไปเชิญเขามาชี้แจงไม่ได้ เพราะแต่ละชุดกำหนดบทบาทเอาไว้ในกฎหมายชัดเจน เท่าที่ดูการเชิญบุคคลมาชี้แจงของกรรมาธิการแต่ละคณะ ก็ยังไม่มีปัญหา”

 

เช้าวันเดียวกัน  มีรายงานข่าวว่า  สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ส่งหนังสือกลับไปยังกรรมาธิการชุดนี้ ขอความชัดเจน

 

1.การเสนอร่างงบประมาณของนายกฯ เกี่ยวข้องกับการทุจริตที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกรรมาธิการอย่างไร

 

2.การที่อ้างคณะรัฐมนตรียังไม่สามารถเข้ารับหน้าเนื่องจากการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ถูกต้องครบถ้วนนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งแล้วว่า ไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว และให้เหตุผลว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณตนต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของฝ่ายบริหารกับพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด

 

นอกจากนี้ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 63 ได้มีการเสนอร่างพระราชกำหนดโอนกำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์พ.ศ. 2562 และร่างพระราชบัญญัติเหรียญรัตนาภรณ์รัชกาลที่ 10 รวมไปถึง ร่างพระราชบัญญัติเหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10   ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฏหมายดังกล่าวโดยไม่มีการทักท้วงการทำหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด  จึงขอสอบถามเพื่อความชัดเจนจากคณะกรรมาธิการอีกครั้งเพื่อให้การดำเนินการถูกต้องตามธรรมนูญ ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

matemnews.com 

29  ตุลาคม 2562