Home ข่าวทั่วไปรอบวัน นายกรัฐมนตรีย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของสตรี

นายกรัฐมนตรีย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของสตรี

329
0
SHARE

 

 

เว็บไซต์รัฐบาลไทย  เผยแพร่

วันนี้ (31 ตุลาคม 2562) เวลา 17.00 น. ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีปิดงาน Women CEOs Summit 2019 โดยโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสุนทรพจน์สรุปสาระสำคัญดังนี้

 

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้มาร่วมในพิธีปิดงาน Women CEOs Summit 2019 และแสดงความยินดีต่อเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน ในการดำรงตำแหน่งประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนสากล วาระปี 2561 – 2563 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน และพิธีมอบรางวัลผู้ประกอบการสตรีที่มีผลงานโดดเด่นแห่งอาเซียนเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา รวมถึงการจัดประชุมสุดยอดสตรีนักบริหารในครั้งนี้ พร้อมแสดงความชื่นชมการดำเนินงานของเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียนที่ร่วมสนับสนุนแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ในวาระการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย เพื่อสร้างเครือข่ายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และร่วมกันขับเคลื่อนอาเซียนไปสู่อนาคต โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

นายกรัฐมนตรีเห็นว่าหัวข้อหลักของการประชุม คือ “การกำหนดทิศทาง ธุรกิจสตรี ก้าวล้ำ..สหัสวรรษ 4.0” มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพลวัตในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือร่วมใจกันเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ ในระดับอาเซียน มีผลงานในการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ ส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจของสตรี และการมีส่วนร่วมของสตรีในทุกมิติ โดยนายกรัฐมนตรีมีโอกาสร่วมกับผู้นำอาเซียนในการรับรองเอกสารวาระการดำเนินงานในการสร้างความตระหนักในเรื่องการส่งเสริมขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสตรีในอาเซียน ในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 31 เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของสตรีในอาเซียนโดยการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การทำธุรกิจแบบครอบคลุม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเพิ่มจำนวนสตรีในระดับผู้บริหาร

 

สำหรับประเทศไทยได้กำหนดนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำของสังคมผ่านยุทธศาสตร์พัฒนาสตรี พ.ศ. 2560 – 2564 นอกจากนี้ การเปิดโอกาสการเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะในยุคดิจิทัล โดยได้มีความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) จัดโครงการเตรียมความพร้อมและพัฒนาบุคลากรสตรีสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับประกอบอาชีพ โดยมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ส่งผลให้ประเทศไทยมีสัดส่วนของธุรกิจที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการถึง ร้อยละ 25.2 หรือจัดอยู่ในลำดับที่ 25 ของโลก ทั้งนี้การดำเนินการในระดับประเทศและระดับภูมิภาคล้วนเชื่อมโยงกับเป้าหมายใหญ่ของโลก ซึ่งก็คือการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับสตรี คือ เป้าหมายที่ 5 ได้แก่ การบรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน

 

โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีขอให้ทุกภาคส่วน และเรียกร้องให้ฝ่ายชายร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมบทบาทของสตรี ในลักษณะการ “เติมเต็ม” ซึ่งกันและกัน โดยสร้างทัศนคติที่ดีในสังคม ให้มีความเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย และมีความเสมอภาคทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้พลังสตรีมีส่วนร่วมในมิติต่าง ๆ ของการพัฒนาอย่างยั่งยืน อย่างเต็มศักยภาพ มีศักดิ์ศรี และทัดเทียมกัน นอกจากนี้ในการประชุมยังได้หารือในประเด็นเรื่องการสร้างความตระหนักถึงโอกาสและความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด เพื่อให้ภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีความรู้เท่าทันและสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว และรัดกุม ทั้งในแง่ของการวางยุทธศาสตร์และการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ซึ่งมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วน ทุกเพศ ทุกวัย จะต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างเข้มแข็ง

 

ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีแสดงความขอบคุณการประชุมครั้งนี้ที่ยืนยันถึงความสำคัญของบทบาทของผู้หญิงและเด็กหญิงในการร่วมกำหนดอนาคตของเราทุกคนอย่างยั่งยืน และหวังว่าทุกฝ่ายจะนำผลจากการประชุมในครั้งนี้ ไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ต่อไป

matemnews.com 

1 พฤศจิกายน 2562