เฟชบุ้ค ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
ไทยส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคและความยั่งยืนในทุกมิติ
.
ท่านนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม เน้นแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน ซึ่งความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามเป็นเสาหลักที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้าน เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทั้ง 13 ประเทศ ภายใต้การแข่งขันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งอาเซียนบวกสามจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากยิ่งขึ้น จึงควรเตรียมความพร้อมในการรับมือ และมุ่งมั่นสร้างโอกาสจากความท้าทาย
.
ท่านนายกฯ ได้เสนอแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม คือ ความเชื่อมโยงในภูมิภาค เสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เป็นกลไกที่สำคัญของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนา ที่ยั่งยืน ขอให้ประเทศบวกสามสนับสนุนอาเซียน โดยเฉพาะการจัดตั้ง “ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม” ที่ประเทศไทย ซึ่งความร่วมมืออาเซียนบวกสามจะเป็นกลไกที่สำคัญนำไปสู่หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของภูมิภาคเอเชียตะวันออก พร้อมขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสำนักเลขาธิการอาเซียนที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยมาโดยตลอดทั้งปี
…………………………………………..
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
การพบปะกันวันนี้ (4 พ.ย.62) ระหว่างท่านนายกฯ กับ นายชินโซ อาเบะ (Mr.Shinzo Abe) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง เป็นไปอย่างชื่นมื่น โดยท่านนายกฯ กล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่เยือนประเทศไทยในรอบ 6 ปี และยินดีที่อาเซียนและญี่ปุ่นบรรลุการเจรจาถ้อยแถลงร่วมของการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 22 ว่า ด้วยความเชื่อมโยง พร้อมหวังว่าอาเซียนจะได้ร่วมมือกับญี่ปุ่นภายใต้ ASEAN Outlook on Indo-Pacific โดยเฉพาะในประเด็นการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงบริการทางการเงิน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการจัดการขยะทะเล นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการส่งเสริมความเชื่อมโยง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งชื่นชมญี่ปุ่นในฐานะประธาน G20 ในการจัดทำเอกสารผลลัพธ์สำคัญต่าง ๆ ของการประชุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง G20 Principles on Quality Infrastructure Investment ซึ่งเป็นการส่งเสริมการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง เพื่อสอดประสานข้อริเริ่มด้านความเชื่อมโยงทั้งระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค
.
ขณะที่ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ชื่นชมบทบาทการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย โดยเฉพาะบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีที่สามารถผลักดันให้บรรลุผลการประชุมที่สำคัญต่อการพัฒนาภูมิภาคประสบความสำเร็จ โดยญี่ปุ่นจะเดินหน้าร่วมมือกับไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป รวมถึงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาประเด็นท้าทายสำคัญในภูมิภาคด้วย
……………………………………………………
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
ท่านนายกฯ ร่วมหารือกับนายดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย โดยมีความยินดีที่ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างสองประเทศมีความก้าวหน้าอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ ท่านนายกฯ ยังได้กล่าวเชิญบริษัทรัสเซียเข้ามาลงทุนใน EEC ในสาขาที่รัสเซียเชี่ยวชาญ อาทิ อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เทคโนโลยีดิจิทัล การเมือง ระบบเมืองอัจฉริยะ และการผลิตเครื่องมือแพทย์ พร้อมกล่าวว่าไทยมีความสนใจที่จะส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดรัสเซียเพิ่มขึ้น และขอบคุณรัสเซียที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยอย่างต่อเนื่อง
.
ทั้งนี้ทางประเทศไทยยินดีที่มีการตรวจสอบโรงงานสินค้าประมงไทย โดยหวังว่าจะนำไปสู่การค้าขายสินค้าระหว่างกันมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยหวังที่จะกระชับความร่วมมือด้านพลังงานกับรัสเซีย โดยหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากคณะทำงานร่วมด้านพลังงานเป็นกลไกขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าวให้เป็นรูปธรรมต่อไป
.
ด้านนายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซียยินดีกับประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนและการประชุม อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ไทย-รัสเซีย โดยรัสเซียยินดีและพร้อมส่งเสริมความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญกับไทย อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม พลังงาน และการเกษตร เป็นต้น
.
โดยทั้งสองประเทศเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์กันอย่างรอบด้าน ทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ขอบคุณรัสเซียที่มูลนิธิสโกลโกโว (Skolkovo Foundation) ของรัสเซียได้ทูลเกล้าฯ ถวายทุนการศึกษาแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงคัดเลือกนักศึกษาไทยไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ซึ่งถือเป็นการช่วยพัฒนาบุคลากรด้านวิชาการและวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศไทย
…………………………………………………….
ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์
นายวิลเบอร์ รอสส์ (Wilbur Ross) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
.
ทั้งนี้ได้นำคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของสหรัฐฯ ร่วมเดินทางมาไทย ซึ่งสหรัฐฯ นับเป็นนักลงทุนที่สำคัญของไทยและมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยมายาวนาน ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ในไทย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อากาศยานและอวกาศ ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแพทย์
.
ด้าน รมว.พณ.สหรัฐฯ แสดงความชื่นชมการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีนี้ที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการพัฒนาภูมิภาคอาเซียน พร้อมกล่าวว่าการมาเยือนครั้งนี้นำภาคเอกชนจากสาขาต่างๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของไทยมาร่วมประชุม Indo Business Forum ที่หอการค้าไทยและหอการค้าสหรัฐฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดงาน เชื่อมั่นว่าการประชุมครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจสำหรับภาคเอกชน
.
นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายหารือถึงการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการลงทุนระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าไทยมีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนของภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างชาติ รวมทั้งได้พัฒนากฎระเบียบต่างๆ และผลักดันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนภาคเอกชนสหรัฐฯ มาร่วมกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคของอาเซียนด้วย
.
สำหรับประเด็นการพักสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) บางส่วนแก่ไทย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ารัฐบาลห่วงกังวลเรื่องผลกระทบต่อภาคเอกชนและสาธารณชน แต่เข้าใจดีเรื่องกติกาของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามในฐานะมิตรอันใกล้ชิด ขอให้สหรัฐฯ พิจารณาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งรว.พณ.สหรัฐฯ พร้อมเปิดให้มีการเจรจาทบทวนระหว่างกันก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในอีก 6 เดือน
matemnews.com
4 พฤศจิกายน 2562