Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ทำไมตำรวจโคราชจึงเต้น – อ่านข้อเขียนอดีตผู้พิพากษา

ทำไมตำรวจโคราชจึงเต้น – อ่านข้อเขียนอดีตผู้พิพากษา

878
0
SHARE

 

 

พ.ต.อ.คเชนท์ เสตะปุตตะ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา  แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนบ่าย 5 พ.ย.2562 ว่า

 

“ตัวแทนบริษัทลิขสิทธิ์จับกุมเด็กสาววัย 15 ปี ขายกระทงละเมิดลิขสิทธิ์การ์ตูนชื่อดัง โดยล่าสุดบริษัทลิขสิทธิ์ชี้แจงแล้วว่า  ไม่ได้มีการส่งตัวแทนมาจับกุมแต่อย่างใด  เมื่อตรวจสอบจากหลักฐานใบรับรองการเป็นตัวแทนบริษัทที่ นายประจักษ์ โพธิผล ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท พอส์ อิงค์ จำกัด และบริษัท ซาน-เอกซ์ จำกัด นำมาแสดงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เบื้องต้นพบว่าเป็นเอกสารฉบับจริง  มีชื่อบริษัทระบุชัดเจน แต่เป็นบริษัทลูกของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์รายใหญ่ ตำรวจขอเวลาตรวจสอบว่าบริษัทลูกดังกล่าวได้มีการแต่งตั้งมอบอำนาจให้ตัวแทนมาจับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จริงหรือไม่ คาดว่าใช้เวลาอีก 2 วันจะทราบผล  ถ้าเป็นเอกสารปลอมพนักงานสอบสวนจะแจ้งข้อหาฐานแจ้งความเท็จ  และใช้เอกสารปลอม จะเรียกตัวมารับทราบข้อกล่าวหา  แต่ถ้าตรวจสอบได้ว่าเป็นใบรับมอบอำนาจจริง  มีการแต่งตั้งจากบริษัทจริง ก็น่าจะจบขั้นตอนส่วนนี้  ถือว่าเป็นการดำเนินการตามกฎหมายและตำรวจทำตามอำนาจหน้าที่  โดยมีการถอนแจ้งความไปแล้ว ขอยืนยันตำรวจไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับเงินค่าเสียหาย   คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายไกล่เกลี่ยตกลงกันเอง ตำรวจไม่ได้รับเงินส่วนแบ่งแต่อย่างใด ถ้าหากผู้เสียหายที่เป็นเด็กสาววัย 15 ปี หรือมีผู้เสียหายรายอื่นๆ ต้องการแจ้งความเอาผิดกับกลุ่มตัวแทนลิขสิทธิ์ในฐานความผิดกรรโชกทรัพย์ ตำรวจก็พร้อมรับแจ้งความและดำเนินการไปตามขั้นตอนกฎหมาย”

 

https://bit.ly/2WJEnqG

เฟชบุ้ค Chuchart Srisaeng

(นายชูชาติ ศรีแสง อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา )

…..กรณีที่เด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งทำกระทงขายหารายได้เป็นค่าเล่าเรียนพิเศษ มีผู้ว่าจ้างให้เด็กคนนี้ทำกระทงลายการ์ตูนจำนวน 136 กระทง ทั้งๆ ที่ตามปกติเด็กทำกระทงลายดอกไม้ โดยผู้จ้างได้จ่ายเงินมัดจำ 200 บาท เด็กใช้เวลาทำกระทงตั้งแต่ 8 นาฬิกา จนถึง 01.30 นาฬิกา ของวันใหม่ แต่เมื่อเด็กนำกระทงไปส่งให้แก่ผู้ว่าจ้างกลับถูกผู้ว่าจ้างแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่าเด็กคนนี้ว่าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น

…..กรณีนี้ถ้าผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือได้รับมอบ อำนาจโดยถูกต้องตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนที่ให้เด็กนำไปทำกระทง การที่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์จ้างให้เด็กทำกระทงลายการ์ตูนที่ตนเองเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็เท่ากับว่า ผู้ว่าจ้างอนุญาตให้เด็กใช้สิทธิในลิขสิขสิทธิ์ของตนตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 15 เด็กจึงไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ มาตรา 27

…..เมื่อเด็กไม่มีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์การที่ผู้ว่าจ้างไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ดำเนินคดีแก่เด็ก โดย มีการเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์จากเด็ก หากเด็กจ่ายค่าเสียหายให้ก็จะไม่ติดใจดำเนินคดี เช่นนี้ถือได้ว่า ผู้ว่าจ้างข่มขืนใจเด็กให้ยอมให้หรือยอมจะให้ตนเองได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะดำเนินคดีอันเป็นการทําอันตรายต่อเสรีภาพคือทำให้เด็กต้องถูกควบคุมตัวหมดเสรีภาพในร่างกาย หรือทำอันตรายต่อชื่อเสียงของเด็กคือทำให้เด็กต้องตกเป็นผู้ต้องหาว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย จนทำให้เด็กต้องยินยอม

 

…..การกระทำของผู้ว่าจ้างจึงมีความผิดฐานกรรโชก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 มีโทษจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

…..ทั้งมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 172, 173 และ 174 ซึ่งมีโทษสูงสุดจําคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท เช่นเดียวกัน

 

…..ดังนั้นถ้าเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีส่วนรู้เห็นกับผู้ว่าจ้างเด็ก ก็ต้องไม่รับแจ้งความและไม่ดำเนินคดีแก่เด็กตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ แต่ต้องดำเนินคดีแก่ผู้ว่าจ้างที่ไปแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่เด็กในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จตามมาตรา 172, 173 และ 174 กับข้อหากรรโชกตามมาตรา 337

…..ความผิดตามมาตรา 172, 173, 174 และ 337 เป็น ความผิดอาญาแผ่นดิน แม้จะไม่มีผู้ใดแจ้งความให้ดำเนินคดีแก่ผู้ว่าจ้างเด็ก แต่การกระทำของผู้ว่าจ้างเด็กได้ปรากฏแก่เจ้าพนักงานตำรวจโดยชัดแจ้งแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจึงมีอำนาจดำเนินคดีแก่บุคคลนี้ได้ตามกฎหมาย

…..หากเจ้าพนักงานตำรวจเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีแก่ผู้จ้างเด็ก ก็อาจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมงลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

 

…..อนึ่งมีข่าวว่า เจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนซึ่งเป็นนิติบุคคลในประเทศญี่ปุ่นยืนยันว่าไม่ได้มอบอำนาจให้บุคคลใดไปจับกุมผู้นำตัวการ์ตูนไปใช้

…..หากข่าวนี้เป็นความจริง ก็แสดงว่าผู้ไปว่าจ้างเด็กไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะไปจับกุมหรือแจ้งความดำเนินคดีแก่เด็ก การกระทำดังกล่าวจึงมีความผิดตาม มาตรา 172, 173, 174 และ 337 อย่างแน่นอน

 

matemnews.com 

5 พฤศจิกายน 2562