Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ยธ. ร่วมกับสำนักงาน ปปง. แถลงความคืบคดีแชร์แม่มณีและคดีแชร์ Forex-๓D

ยธ. ร่วมกับสำนักงาน ปปง. แถลงความคืบคดีแชร์แม่มณีและคดีแชร์ Forex-๓D

357
0
SHARE

 

 

เว็บไซต์รัฐบาลไทย  เผยแพร่

ในวันอังคารที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ บริเวณโถง ๑๐๑ สำนักงาน ปปง. กรุงเทพฯ ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจเอก สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม พลตำรวจตรี ปรีชา เจริญสหายานนท์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. และพันตำรวจเอก ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมแถลงข่าวการบูรณาการในการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงยุติธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงาน ปปง. เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการดำเนินการกับทรัพย์สินรายคดีแชร์ลูกโซ่แม่มณี

สืบเนื่องจากกรณีที่มีกลุ่มผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี เพื่อเอาผิดกับนางสาววันทนีย์ ทิพย์ประเวช อายุ ๓๐ ปี ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน หลังถูกหลอกให้ร่วมลงทุนเงินออมในลักษณะแชร์ลูกโซ่โดยใช้ชื่อแชร์เงินออมกับแม่มณี ซึ่งมีการเชิญชวนให้ร่วมลงทุน โดยอ้างว่ามีการให้ดอกเบี้ยในอัตราสูงถึงร้อยละ ๙๓ เมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อ และโอนเงินให้กลับไม่ได้รับเงินคืนและไม่สามารถติดต่อนางสาววันทนีย์ฯ ได้ ปัจจุบันพบผู้เสียหายแจ้งความจำนวนมาก รวมมูลค่าความเสียหายกว่า ๑,๖๐๐ ล้านบาท ซึ่งต่อมาได้มีการจับกุมนางสาววันทนีย์ฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องได้แล้ว

ว่าที่ร้อยตรี ธนกฤตฯ กล่าวว่า ปัญหาแชร์ลูกโซ่นั้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและรัฐบาลได้ยกให้เป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ทั้งนี้ในส่วนของการเยียวยาผู้เสียหายนั้นปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดๆ ที่จะสามารถเยียวยาผู้เสียหายได้ ดังนั้น ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากรัฐบาลและสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมิจฉาชีพมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการหลอกหลวงให้คนหลงเชื่อเสมอ และขอยืนยันว่ามาตรการในการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดในคดีแชร์ลูกโซ่นั้น จะใช้มาตรการภาษีและกฎหมายฟอกเงินเข้าไปดำเนินการกับทรัพย์สินเพื่อเร่งนำกลับมาคืนให้ได้มากที่สุด

พันตำรวจเอก สุชาติฯ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมได้จัดตั้ง “ศูนย์ยุติธรรมสร้างสุข” ตามนโยบายของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม โดยบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆ อย่างเร่งด่วนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

พลตำรวจตรี ปรีชาฯ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงาน ปปง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม เพื่อเร่งดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด โดยสำนักงาน ปปง. ได้รับการประสานงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ในการใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด ซึ่งขณะนี้สำนักงาน ปปง. ได้ดำเนินการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในรายคดีนี้แล้ว และเตรียมเสนอให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณามอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดในการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ ๑๑/๒๕๖๒ ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ และหากคณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด สำนักงาน ปปง. จะดำเนินมาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีดังกล่าว ซึ่งผู้เสียหายสามารถมายื่นเรื่องขอคุ้มครองสิทธิได้ภายในระยะเวลา ๙๐ วัน นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ผู้เสียหายสามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้าในการดำเนินการกับทรัพย์สินในคดีนี้ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th หรือที่สายด่วน ปปง. ๑๗๑๐

พันตำรวจเอก ไพสิฐฯ กล่าวว่า คดีดังกล่าวนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้กรมสอบสวนคดีพิเศษเร่งดำเนินการ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีเป็นคดีพิเศษที่  ๑๕๐/๒๕๖๒ และได้แจ้งให้ผู้เสียหายเข้ามายื่นเรื่องร้องทุกข์ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษและผ่านระบบ QR Code ซึ่งพบว่ามีผู้เสียหายเข้ามายื่นเรื่องร้องทุกข์จำนวน ๔,๘๕๖ ราย และมูลค่าความเสียหายรวม ๑,๕๘๔,๙๓๘,๘๙๐.๒๐ บาท กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงได้เร่งดำเนินการกับคดีนี้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากมูลค่าความเสียหายสูงหากล่าช้าอาจมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินได้ ทั้งนี้ได้ประสานงานกับสำนักงาน ปปง. ในการใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ เพื่อดำเนินการกับทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดต่อไป

 

matemnews.com 

12  พฤศจิกายน 2562