Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

333
0
SHARE

 

 

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข่าว 25 พ.ย.2562 ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3/62ว่า  ผู้มีงานทำลดลง 2.1%  หากเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรลดลง 1.8%  ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากปัญหาภัยธรรมชาติ และการจ้างงานภาคนอกเกษตรลดลง 2.3% ตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และการหดตัวของการส่งออก โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงได้แก่ สาขาการผลิตลดลง   5.2%  สาขาการขายส่ง/ขายปลีก 4.1% สาขาการก่อสร้างลดลง 2.2 %  ขณะที่สาขาโรงแรม/ภัตตาคารเพิ่มขึ้น 3.1%   และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า เพิ่มขึ้น 1% ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

 

ชั่วโมงการทำงานทรงตัว แม้การจ้างงานจะลดลง แต่โดยเฉลี่ยแรงงานยังคงมีชั่วโมงทำงานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 61 โดยเพิ่มขึ้น 0.4%   ด้านค่าจ้างแรงงานโดยรวมเฉลี่ยเท่ากับ 14,334 บาท/เดือนเพิ่มขึ้น 1.8%  ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชน 12,847 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น2.5%   เมื่อหักเงินเฟ้อที่ 0.6 % ค่าจ้างที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 1.9%  ด้านผลิตภาพแรงงาน (มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อผู้มีงานทำ) พบว่า มีมูลค่า 69,329 บาทต่อคน เพิ่มขึ้น 4.6%

 

ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับ 1.04 หรือมีจำนวน 0.394 ล้านคน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 5.5%  สาเหตุสำคัญมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และปัญหาภัยธรรมชาติ การว่างงานเพิ่มขึ้นทั้งผู้ที่เคยทำงานและไม่เคยทำงานมาก่อน โดยผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น 8.4%  ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเพิ่มขึ้น3%   เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้จบการศึกษาใหม่เริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงาน เมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดที่  2.15 %  รองลงมาเป็นผู้จบอาชีวศึกษา วิชาชีพชั้นสูง มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า และพบว่า ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น มีอัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

แนวโน้มการจ้างงานในไตรมาส 4/62  คาดว่าการชะลอตัวทางเศรษฐกิจยังไม่ปรากฎผลกระทบต่อตลาดแรงงานมากนัก ชี้ให้เห็นจากตัวเลขจากการสำรวจภาวะการมีงานทำของประชากรเดือนต.ค.62 อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ0.9%  หรือคิดเป็นผู้ว่างงาน 0.355 ล้านคน แม้ว่ากำลังแรงงานลดลง 1.7% และผู้มีงานทำลดลง 1.6%  ส่วนหนึ่งคาดว่ามีการเคลื่อนย้ายออกจากกำลังแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ทำงานบ้านที่เข้าสู่กำลังแรงงานเป็นครั้งคราวตามฤดูกาล โดยพบว่าผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 19.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.1%  ประกอบกับโครงสร้างตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่น ซึ่งแรงงานที่ถูกเลิกจ้างในระบบสามารถย้ายไปทำงานนอกระบบได้ง่ายโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม

มีสัญญาณของผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตามต่อไปคือ

 

  1. ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/62  มี 1.72 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 1.5%  ต่อจำนวนผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สูงที่สุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจปี 52 ที่มีสัดส่วนที่  2.2 %

 

  1.  คำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีภาวะธุรกิจในคำสั่งซื้อในประเทศปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก

 

  1. การทำงานล่วงเวลาลดลง โดยจำนวนผู้มีงานทำมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไปลดลง7.9%  ในไตรมาสที่ 3 เป็นการลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 59 เป็นต้นมา

 

  1. สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ตาม พรบ. คุ้มครองแรงงานปี 41 แก้ไขเพิ่มเติม 51 เพิ่มขึ้น (เป็นมาตรการที่กำหนดให้สถานประกอบการสามารถหยุดงานชั่วคราวโดยจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างไม่ต่ำกว่า 75%  ของค่าจ้าง) โดยไตรมาส 3  ปี 62 จำนวนแรงงานที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 48,015 คน จากสถานประกอบการ 93 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นหยุดกิจการบางส่วน 21,297 คน และหยุดกิจการทั้งหมดจำนวน 26,718 คน

 

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญกับตลาดแรงงานคือ  ติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างอย่างใกล้ชิด และการติดตามตรวจสอบให้แรงงานได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งอำนวยความสะดวกและประสานจัดหางานให้กับแรงงาน เช่น การจัดตลาดนัดแรงงาน การประชาสัมพันธ์ช่องทางการสมัครงาน และแหล่งงาน  รวมถึงขอความร่วมมือสถานประกอบการใช้แนวทางชะลอการเลิกจ้างเป็นลำดับ เช่น การลดชั่วโมง/วันทำงานลง การหยุดการทำการชั่วคราวตามมาตรา 75 การสมัครใจลาออก โดยการเลิกจ้างควรเป็นแนวทางสุดท้าย และมาตรการในการเพิ่ม/ปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้สามารถทำงานที่แตกต่างไปจากเดิม

 

matemnews.com 

25 พฤศจิกายน 2562