นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข แถลงแก่นักข่าวเมื่อตอนบ่าย 27 พ.ย.2562 ว่าด้วย การที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีคนของพรรค พปชร. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน ได้มีมติให้ขยายเวลาแบน 2 สารเคมีออกไป และยกเลิกการแบนสารไกลโฟเซตว่า
“ต้องรอให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว. อุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นผู้แถลงอย่างเป็นทางการ แต่จากการได้รับรายงานจาก 2 คณะกรรมการที่เป็นตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข คือ เลขาธิการอย. และอธิบดีกรมวิทยาศาสต์การแพทย์ ได้มารายงานกับผมที่สภาฯ ว่า ยังไม่มีการลงมติใดๆ เราต้องดูว่ามติเดิม ในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ระบุให้แบนทั้ง 3 สารเคมี ในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 จะยังมีผลอยู่หรือไม่ และการประชุมวันนี้ได้มีการยกเลิกมติก่อนนี้ไปหรือยัง เพราะถือเป็นมติที่ขัดแย้งกัน ในการประชุมวันนี้ตัวแทนของกระทรวงสาธารณสุขได้มารายงานว่ากรมวิชาการเกษตร ไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ ไปรายงานต่อที่ประชุมในวันนี้ ดังนั้นนายสุริยะ จึงลงนามไม่ได้ เราต้องดูว่ามีแทคติกอะไรหรือไม่
นักข่าวถามว่า ตัวท่านรองนายกฯจะตอบคำถามเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีความเห็นว่าอยากให้แบน 3 สารเคมี นายอนุทิน ตอบว่า
“ไม่ใช่หน้าที่ผม แต่ผมก็ได้ให้นโยบายแก่ตัวแทนกับกระทรวงสาธารณสุข และเขาก็ยืนยันว่า ให้คงมติแบน 3 สารเคมี ในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 และยืนยันว่า ไม่ให้มีการประชุมลับ ถือเป็นการยืนยันจุดยืนเดิม”
นักข่าวถามต่อ วันนี้ นายสุริยะ อ้างว่าเป็นมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการวัตถุอันตรายแล้ว นายอนุทิน ตอบ
“ผมก็ยังงงอยู่ เพราะตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 2 คนก็ยังยืนยันมติเดิม และขอยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ยืนยันจุดยืนแล้ว คือการแบน 3 สารเคมี แต่ต้องยอมรับว่าคนอื่นไปโหวตเป็นอย่างอื่น ผมก็ไม่สามารถไปทำอะไรได้
ถามต่อ การขยายเวลาการแบน 3 สารเคมี มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ นายอนุทิน ตอบ
“ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เป็นการมองคนละมิติ แต่สงสัยว่ากรมวิชาการเกษตร มีเวลาตั้งนาน แต่ไม่ยอมหามาตรการรองรับเข้าที่ประชุมในวันนี้ มันต้องหามาตรการใหม่ที่จะต้องดำเนินการต่อไป ยืนยันว่าไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงไม่ใช่การหักหน้าพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากเป็นการทำงาน ทึ่มีความเห็นต่างได้ แต่ยืนยันว่าไม่ใช่มติเอกฉันท์ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลก็จะมีการนัดกินอาหารกัน ไม่มีอะไร ไม่ต้องเคลียร์ใจ หลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุขก็มีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ ถึงอันตรายของ 3 สารเคมี รวมถึงเตรียมงบประมาณ เพื่อรองรับคนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีทั้ง 3 อย่านำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นการเมือง แต่ให้เป็นเรื่องสุขภาพของประชาชน เพราะผมกับ น.ส. มนัญญา และพรรคภูมิใจไทย ต่อสู้ในมิติการรักษาสุขภาพและชีวิตของประชาชน ไม่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งสิ้น อย่างเช่นผมเวลามีอะไรที่กระทบสุขภาพประชาชนแม้นิดเดียว แม้จะเกี่ยวกับเศรษฐกิจขนาดไหนผมก็แลกด้วยไม่ได้ เพราะชีวิตคนมีค่ามากกว่าและตีค่าเป็นเงินไม่ได้ ดังนั้นเรื่องที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องต่างคนต่างทำหน้าที่ กระทรวงสาธารณสุขมองในแง่สุขภาพ กระทรวงอุตสาหกรรมมองในแง่ของธุรกิจ ส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ก็มองในแง่พืชผลการเกษตร ถึงต้องมีคณะกรรมการ ดังนั้นผลออกมาเช่นไรเราก็ต้องยอมรับ ไม่ตีโพยตีพายเพราะเราได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่แล้ว”
matemnews.com
27 พฤศจิกายน 2562