Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ปิดตำนานตู้แดง ! ตู้ไปรษณีย์ยุคใหม่มีทั้งศิลปะที่ชาร์แบตพร้อมคิวอาร์โค๊ดเชียงรายต้นแบบทั่วไทย

ปิดตำนานตู้แดง ! ตู้ไปรษณีย์ยุคใหม่มีทั้งศิลปะที่ชาร์แบตพร้อมคิวอาร์โค๊ดเชียงรายต้นแบบทั่วไทย

445
0
SHARE

ที่ศาลาธรรม วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงรายและผู้สร้างสรรค์ศิลปะที่วัดร่องขุ่น นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) และ น.ส.ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกันเปิดนิทรรศการศิลปะบนตู้ไปรษณีย์โดยมีนายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย น.ส.กรุณา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเชียงราย พ.ต.ท.ฉันทฤทธิ์ เหล่าไพโรจน์จารี สารวัตรสถานีตำรวจท่องเที่ยว (ทท.) 2 บก.ทท.2 (ตำรวจท่องเที่ยวเชียงราย) อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะและศิลปินชาวเชียงราย ประชาชนและนักท่องเที่ยว เข้าร่วมงานจำนวนมาก

โดยนิทรรศการเป็นการจัดแสดงตู้ไปรณีย์ที่ทางศิลปินได้ทำการวาดภาพระบายสีเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและสถานที่สำคัญจากทั่ว จ.เชียงราย ประกอบด้วยวัดร่องขุ่น ,สิงห์ปาร์คเชียงราย, หอนาฬิกาเฉลิมพระเกียรติฯ, ตลาดไนท์บาร์ซ่า, อนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช สวนตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ ,พระตำหนักดอยตุง ,สามเหลี่ยมทองคำ จุดผ่านแดนถาวรแม่สาย (วัดพระธาตุดอยเวา) ,วัดห้วยปลากั้ง, พิพิธภัณฑ์บ้านดำ, ไร่ชาฉุยฟง ,ตลาดเชียงของ (ชายแดนไทย-สปป.ลาว), วัดแสงแก้วโพธิญาณ และศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน



ซึ่งบรรดาศิลปินต่างทำการวาดได้อย่างงดงามและมีความโดดเด่น และบนตู้ไปรษณีย์ยังมีแผงโซลล่าเซลล์เพื่อการติดตั้งที่ชาร์ตผ่านยูเอสบี รวมทั้งคิวอาร์โค๊ดเพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ร่วมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย ทั้งนี้นิทรรศการจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย.ไปจนถึงวันที่ 10 ธ.ค.นี้ จากนั้นจะนำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ของ จ.เชียงราย ต่อไป

อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่าโครงการวาดภาพบนตู้ไปรษณีย์ครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีอย่างมากเพราะทำให้เกิดประโยชน์หลายด้านโดยทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยและไปรษณีย์ไทยดีและเมื่อประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่ไปเยือนทั้งในและต่างประเทศ ก็จะเกิดความประทับใจในความงดงามแล้วร่วมถ่ายภาพนำออกไปเผยแพร่ซึ่งหากว่าเป็นตู้ไปรษณีย์ปกติคงจะไม่มีใครสนใจแต่ถ้าทำให้สวยงามคนจะสนใจแน่นอน ตนเห็นว่าการดำเนินการใน จ.เชียงราย เป็นการนำร่องที่สามารถเป็นต้นแบบไปสู่ตู้ไปรษณีย์ในจังหวัดอื่นๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ศิลปินท้องถิ่นได้แสดงฝีมือเพื่อสิ่งดีงามให้กับบ้านเมืองได้ต่อไป



อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า จ.เชียงราย เป็นเมืองศิลปะและเมืองศิลปินซึ่งหากมีกิจกรรมเพื่อบ้านเมืองพวกเราก็พร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยกรณีของตู้ไปรษณีย์ที่จัดทำในครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศโดยใช้ศิลปะ และทำให้สามารถสู้กับความทันสมัยของประเทศอื่นๆ ได้เพราะเรามีจุดเด่นตรงนี้ ทั้งนี้เบื้องต้นจะนำตู้ไปรษณีย์ทั้งหมดจัดแสดงที่วัดร่องขุ่นก่อนเพราะเป็นจุดที่ดีที่สุดและจะมีนักท่องเที่ยวแวะไปชมวันละอย่างน้อย 5,000 คนแน่นอน เมื่อเขาได้เข้าชมก็จะได้ถ่ายภาพแล้วนำไปเผยแพร่ต่อๆ กันไปอย่างแพร่หลาย เมื่อมีคนไปชมมากๆ ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวอย่างครบวงจรต่อไป

นางสมร กล่าวว่าปัจจุบันกิจการไปรษณีย์ของประเทศไทยมีอายุเข้าสู่ปีที่ 137 แล้วและมีตู้ไปรษณีย์กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10,000 ตู้โดยใช้โทนตู้สีแดงตามสัญลักษณ์ของไปรษณีย์ไทย อย่างไรก็ตามปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากตู้ไปรษณีย์มีน้อยลงมากเพราะผู้คนหันไปสื่อสารถึงกันด้วยสื่อที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น ไลน์ เฟชบุ๊ค ฯลฯ

ดังนั้นจึงได้รับความกรุณาจากอาจารย์เฉลิมชัยและศิลปินชาวเชียงรายร่วมกันสร้างศิลปะบนตู้ไปรษณีย์ดังกล่าว เพื่อที่จะนำไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ใน จ.เชียงราย โดยสามารถใช้ประโยชน์ได้เหมือนเดิมแต่ก็จะมีคิวอาร์โค๊ดบนตู้เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารและเครื่องดื่ม แหล่งเรียนรู้วิถีชีวิต แหล่งเรียนรู้คู่ชุมชน ของดีของเด่นและของฝาก ฯลฯ ซึ่งก็จะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลได้อย่างรวดเร็วและทันสมัยตรงตามยุทธศาสตร์การพัฒนาไปรษณีย์ไทยสู่ยุค 4.0

ทั้งเบื้องต้นจะมีตู้ไปรษณีย์ต้นแบบนี้จำนวน 15 ตู้ก่อนและปัจจุบันก็กำลังร่วมกับศิลปินใน จ.น่าน ขอนแก่นและพิษณุโลก ในการวาดภาพบนตู้ไปรษณีย์ด้วยเช่นกันซึ่งก็คงจะได้นำเผยแพร่ต่อไป กระนั้นก็ต้องถือว่าที่ จ.เชียงราย มีความเป็นพิเศษเพราะนำโดยอาจารย์เฉลิมชัยและมีศิลปินในจังหวัดมากมาย



ด้าน น.ส.ฐาปนีย์ กล่าวว่ากิจกรรมครั้งนี้คงจะให้ จ.เชียงราย เป็นต้นแบบในฐานะที่มีศิลปินมากมายและในอนาคตก็จะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ โดยทาง ททท.จะร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (มหาชน) เช่นเดิม สำหรับกรณี 15 ตู้นำร่องนี้ก็จะมีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวโดยนักท่องเที่ยวที่ไปพบตู้ไปรษณีย์ศิลปะดังกล่าวตามสถานที่ต่างๆ แล้วเช็คอินถ่ายภาพคู่กับตู้ไปรษณีย์ดังกล่าวครบ 5 ตู้ในสถานที่ที่แตกต่างกันและต้องตั้งอยู่ต่างอำเภอกันอย่างน้อย 2 อำเภอ จากนั้นนำมาแชร์ผ่านสื่อสาธารณะหรือโชลเชียลมีเดียก็สามารถไปรับรางวัลจาก ททท.สำนักงานเชียงราย ได้ต่อไป