Home ข่าวทั่วไปรอบวัน เลขาธิการ สปก.โปรดอ่านข่าวนี้หลายๆรอบ “ดำรงค์ พิเดช” เตือนแล้วนะ

เลขาธิการ สปก.โปรดอ่านข่าวนี้หลายๆรอบ “ดำรงค์ พิเดช” เตือนแล้วนะ

432
0
SHARE

 

 

นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย(รป.) แถลงข่าว 6 ธ.ค.2562  ประเด็นว่าด้วย  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก) เตรียมทำหนังสืออย่างเป็นทางการ ถึง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ให้คืนที่ดินจำนวน 682 ไร่ บริเวณฟาร์มไก่ ให้กับ ส.ป.ก.ภายใน 7 วัน หากไม่ยอมคืน จะใช้คำสั่งตามม.44 ยึดคืนทันที ว่า

 

“พื้นที่บริเวณดังกล่าวถือเป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการปฏิรูปตามจุดประสงค์ของส.ป.ก. ดังนั้นพื้นที่ดังกล่าวก็ยังถือว่าเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแต่ดั้งเดิมอยู่ ดังนั้น ส.ป.ก.จะยึดคืนก็ยึดคืนไป แต่ยังถือว่า น.ส.ปารีณาทำผิดฐานบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และกรมป่าไม้ต้องดำเนินคดีพื้นที่ทั้งหมดนี้ด้วย หากไม่ดำเนินการก็อาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่  เรื่องนี้มีบรรทัดฐานชัดเจน จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14487/2558 ที่มีขึ้นระหว่าง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่เป็นโจทก์ กับ น.ส.เนตรสวาท ขาวดีเดช จำเลย ที่ครอบครองพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยอ้างว่า เป็นที่ดิน ส.ป.ก. โดยในครั้งนั้น ศาลพิพากษาว่า ที่ดินตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 895 พ.ศ.2523 ออกตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2523 พระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2524 ซึ่งกฎกระทรวงและแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกา และแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จึงมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2523 และวันที่ 24 ธ.ค. 2524 ตามลำดับ แม้จะมีพื้นที่บางส่วน เช่น ที่ดินพิพาท ที่ปรากฏอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินก็ตามไม่มีผลทำให้กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ชอบ หรือไม่มีสภาพบังคับ เพราะเหตุผล และวัตถุประสงค์ในการออกกฎหมายแต่ละฉบับแตกต่างกัน อำนาจในการดูแลจัดการ หรือดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่ละฉบับ ขึ้นกับเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างกัน ตราบใดที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในพื้นที่พิพาทตั้งอยู่ ยังมิได้นำที่ดินพิพาทไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทนั้น ยังคงมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518มาตรา 26 (4) เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ จะนำที่ดินพิพาทจะดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ดังนั้นที่ดินพิพาท จึงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติทับลาน  ในคำพิพากษาศาลฎีกาเดียวกันนี้ ระบุด้วยว่า ส่วนราษฎรที่อยู่อาศัยและทำกินหลังวันประกาศสงวน หวงห้ามเป็นพื้นที่ป่าไม้ตามกฎหมายครั้งแรก ให้กรมป่าไม้ดำเนินการเคลื่อนย้ายราษฎรออกจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้น แล้วทำการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ที่ดินพิพาทถูกกำหนดให้เป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2523 ดังนั้นราษฎรจะรับประโยชน์อยู่อาศัยและทำกินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติครม. 30 มิ.ย. 2541 จะต้องเป็นผู้อยู่อาศัยทำกินมาก่อนวันที่ 1 พ.ย. 2523 แต่จำเลยรับโอนที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2540 จำเลยปลูกบ้านพักอาศัยเมื่อปลายปี 2540 จึงเป็นภายหลังจากประกาศกำหนดให้ที่ดินพิพาทอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของจำเลยเป็นการบุกรุก เข้าไปยึดถือ ครอบครอง ก่อสร้าง แผ้วถางที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน  คำพิพากษาดังกล่าว เป็นบรรทัดฐาน สำหรับกรณีของน.ส.ปารีณาได้ กรณีการเข้าไปครอบครองที่ดินในพื้นที่ ส.ป.ก.ที่ยังไม่ได้มีการปฏิรูปใดๆ ซึ่งก็ถือว่า พื้นที่นั้นยังเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่ เท่ากับว่า น.ส.ปารีณาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จะต้องได้รับโทษ ตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ไม่เกี่ยวกับ กฎหมายปฏิรูปที่ดินแต่อย่างใด”หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่า กล่าว

 

นอกจากนั้นยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่434/2544    กรณีข้อพิพาทที่ดินในเขตป่าสงวนฯ ป่าภูแลนคาทิศใต้ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องนายพรม    สายรื่น  กับพวก    ถูกเจ้าหน้าที่ฟ้องข้อหาร่วมกันบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองแผ้วถางป่าสงวนฯโดยศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลย แต่ให้รอการลงโทษไว้และให้จำเลยและบริวารออกจากป่าสงวนฯ จากนั้นศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องว่าที่ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษนั้นตามพ.ร.บ.ป่าสงวนฯมาตรา14,31 วรรคหนึ่งนั้น ได้มีพ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินพ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) และพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ อ.เมืองชัยภูมิ อ.คอนสาร อ.บ้านเขว้า และ อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินพ.ศ. 2534 ซึ่งให้เพิกถอนป่าสงวนฯ ในท้องที่เกิดเหตุคดีนี้แล้ว กรณีของจำเลยจึงถือได้ว่ามีบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดต่อไปตามประมวลกฎหมายอาญา จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือสั่งว่าจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดอาญา

 

สุดท้ายศาลฎีกาวินิจฉัย สรุปใจความได้ กรณีข้อพิพาทที่ดินป่าสงวนฯ ซึ่งกรมป่าไม้ยังมิได้ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ ส.ป.ก.แม้จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินออกมาแล้ว  แต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเป็นเพียงแต่การกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น    ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนฯในทันที ยังคงเป็นป่าสงวนอยู่เช่นเดิมที่พิพาท  จึงยังคงมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติ และคำร้องของจำเลยฟังไม่ขึ้น

 

 

Matemnews.com 

6 ธันวาคม 2562