วันที่ 13 ธ.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงาน นายลวรณ แสงสนิท ผอ.สนง.เศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการ
คลัง เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงมหาดไทยส่งหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เลื่อนการเริ่มจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตาม พร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ที่จะเริ่มจัดเก็บภายในเดือน เม.ย.63 เลื่อนเป็นเดือน ส.ค.63 ว่า มีสาเหตุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บางแห่ง ยังสรวจที่ดินในความรับผิดชอบของตนเองไม่เสร็จ
ดังนั้น กระทรวงมหาดไทย จึงขยายเวลาออกไปเพื่อให้ อปท.มีเวลาเพิ่มขึ้น “มหาดไทยไม่ได้เลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินออกไป เพียงแต่เลื่อนการจัดเก็บภาษีที่ดินเท่านั้น โดย อปท.จะเร่งทำหนังสือแจ้งข้อมูลรายการห้องชุดหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษี เพื่อให้ผู้เสียภาษีนำเอกสารมายื่นตรวจสอบภายในเดือน มี.ค.63 ส่วนผู้ที่ต้องการยื่นอุทธรณ์เรื่องภาษีที่ดินหรือข้อมูลต่างๆ จะต้องยื่นอุทธรณ์หลังได้รับหนังสือจาก อปท.ภายใน 30 วัน”
นอกจากนี้ กฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายลูก ใน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 19 ฉบับยังมีอีก 10 ฉบับที่รอประกาศบังคับใช้ “สศค.มองว่า การเลื่อนเก็บภาษีที่ดินออกไปอีก 4 เดือนไม่กระทบต่อรายได้รัฐบาล โดยปีนี้คาดว่าจะมีรายได้จากภาษีที่ดิน 40,000 ล้านบาท จากปี 61 มีรายได้ 30,000 ล้านบาท แม้จะเลื่อนไป 4 เดือน เงินจากการจัดเก็บยังอยู่ในปิงบประมาณ 63 ซึ่งเพียงพอกับการใช้เงินของรัฐบาล”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอัตราการจัดเก็บภาษี ประกอบด้วย ที่อยู่อาศัย ในกรณีบ้านหลังหลักหมายถึง มีชื่อในโฉนดและมีชื่อเป็นเจ้าบ้านในทะเบียนบ้าน จะได้รับการยกเว้นภาษีกรณีมูลค่าบ้านและที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท ส่วนบ้านหลังอื่นๆที่มีชื่อในโฉนด แต่ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน จะได้รับการยกเว้นภาษีกรณีมูลคู่บ้านไม่นับรวมที่ดินไม่เกิน 10 ล้านบาท ส่วนผู้ที่มีคอนโดมิเนียมที่เป็นบ้านหลังอื่นๆ ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทต้องไปแจ้งยืนยันว่าใช้เป็นที่อยู่อาศัย ไม่ได้ปล่อยให้เช่าจึงจะได้รับการยกเว้น แต่ถ้าใช้เพื่อการพาณิชย์จะเสียภาษีอัตรา 0.3%
ด้านพื้นที่เกษตรกรรมของบุคคลธรรมดา ไม่ต้องเสียภาษี 3 ปีแรก ส่วนปีที่ 4 เป็นต้นไป มูลค่าที่ดิน 50 ล้านบาทแรกจะได้รับการยกเว้น จากนั้นที่มูลค่า 51 ล้านบาทขึ้นไปถึง 75 ล้านบาท เสียอัตรา 0.01% มูลค่า 75-100 ล้านบาท อัตรา 0.03% ส่วนที่ดินรกร้างว่างเปล่า มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท
เสียอัตรา 0.3% และเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีรวมไม่เกิน 3%
ที่มา ไทยรัฐ