Home ข่าวทั่วไปรอบวัน อธิบดีกรมราชทัณฑ์  ขอโทษ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์  ขอโทษ

568
0
SHARE

 

 

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ แถลงข่าวที่กรมฯเมื่อ 17 ธ.ค.2562  ว่า

 

“กรมราชทัณฑ์ดูแลผู้ต้องขังทั่วประเทศกว่า 370,000 คน และการพิจารณาผู้ต้องขังที่จะได้รับอิสรภาพมีอยู่ 3 ประเภท

 

1.พ้นโทษตามคำพิพากษาของศาล ภาษาราชทัณฑ์คือปล่อยตามป้าย เพราะได้รับโทษมาจนครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลจะได้รับการปล่อยตัวไป

 

2.การพักการลงโทษ มี 2 ลักษณะคือ ลักษณะแรกพักการลงโทษแบบปกติ คือได้รับจำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 เหลือโทษอีก 1 ใน 3 แต่การพักโทษจะมีเงื่อนไข ต้องไปรายงานตัวกับเจ้าพนักงานคุมประพฤติทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้งจนครบกำหนดโทษที่เหลือ

 

ส่วนอีกลักษณะคือพักโทษกรณีพิเศษ ซึ่งได้รับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 โดยคณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษ ที่มีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานพิจารณา ผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ ต้องเป็นผู้เจ็บป่วยร้ายแรง เจ็บป่วยเรื้อรัง ที่มีอาการป่วยขั้นสุดท้าย และผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ขึ้นไป ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ให้กลับไปรักษาตัวอยู่กับครอบครัว ตามหลักมนุษยธรรม

 

3.ลดโทษ แบ่งผู้ต้องขังเป็น 6 ชั้น

 

1.ชั้นเลวมาก หรือชั้นต้องปรับปรุงมาก

2.ชั้นเลว หรือชั้นต้องปรับปรุง

3.ชั้นกลาง

4.ชั้นดี

5.ชั้นดีมาก

6.ชั้นเยี่ยม

 

โดยผู้ต้องขังเข้าใหม่จะอยู่ที่ชั้นกลาง หากประพฤติตัวดีเลื่อนเป็นชั้นดี ชั้นดีมาก และชั้นเยี่ยม เพื่อเป็นการจูงใจให้ผู้ต้องขังให้อยู่ในระเบียบวินัย และยอมอบรมและพัฒนาตัวเองระหว่างอยู่ในเรือนจำ

 

ในทางตรงข้ามหากผู้ต้องขังประพฤติตัวไม่ดีจะลดไปชั้นเลว และเลวมากตามลำดับ จะมีผลต่อการบริหารโทษตามกฎหมาย

 

ต้องเรียนว่าในกรณีของ  “นายสมคิด พุ่มพวง” อดีตผู้ต้องขังที่เพิ่งจะพ้นโทษไปกลางปี 62 นั้น ไปก่อเหตุสะเทือนขวัญอีก ผมในฐานะผู้นำหน่วยของกรมราชทัณฑ์ต้องขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิต และขอโทษสังคมที่กรมราชทัณฑ์ ไม่สามารถแก้ไขฟื้นฟูพฤตินิสัยของนายสมคิดให้กลับมาเป็นคนดีได้

 

แต่ต้องเข้าใจว่านายสมคิดได้รับการลงโทษและได้รับการลดโทษตามกระบวนการกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องทุกประการ ขณะก่อเหตุล่าสุดเป็นการก่อเหตุภายนอกเรือนจำหลังจากพ้นโทษไปแล้ว  การพ้นโทษตามกำหนดไม่ได้มีกลไกในการติดตามตัว ทำได้เพียงประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมในกรณีพิเศษ เช่นผู้ต้องหาคดีร้ายแรง หรือมือปืนรับจ้างเท่านั้น แตกต่างจากผู้ต้องขังที่ได้รับพักโทษ และยังเหลือโทษอีก 1 ใน 3 ยังต้องมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติตามขั้นตอน

 

กรณีที่นายสมคิด ฆาตกรต่อเนื่องที่พ้นโทษได้ไม่นานไปก่อเหตุซ้ำ ทางกรมราชทัณฑ์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจตั้งกรรมการมา 1 ชุด คอยพิจารณากลั่นกรอง ไปตรวจสอบดูว่าเคสนายสมคิด จะมีการแก้ปัญหาอย่างไรในการร่างกฎหมาย ในการพิจารณาลดโทษผู้ต้องขังที่ก่อเหตุซ้ำซ้อนซ้ำซาก ในข้อหารุนแรง อุกฉกรรจ์ สะเทือนขวัญ ให้ได้รับการพักโทษ หรือลดโทษออกมานอกเรือนจำก่อนเวลาอันควร

 

แนวทางใช้การติดกำไลคุมประพฤติ หรือ EM ที่ท่านสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ให้แนวนโยบาย ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่กระบวนการยุติธรรมของไทยที่ใช้มามี 3 มิติ คือ

 

มิติที่1.วิธีที่ศาลยุติธรรมใช้ EM ประกอบการปล่อยตัวชั่วคราว กับผู้กระทำความผิดหรือจำเลยในได้รับการประกันตัวออกมาทำงานและเรียนหนังสือชั่วคราวระหว่างมีการพิจาณาคดี

 

มิติที่ 2.ใช้ EM ประกอบพักการลงโทษ ของกรมราชทัณฑ์ ที่อนุกรรมการพักการลงโทษจะพิจารณาติด EM ในกรณีเสี่ยงที่ผู้ต้องขังจะหลบหนี หรืออุปกรณ์ EM เป็นของกรมคุมประพฤติ และศาลยุติธรรม  EM ยังมีจำนวนน้อยมาก ไม่สามารถนำมาใช้ทั่วถึงและแพร่หลายได้

 

มิติที่ 3.ศาลยุติธรรมใช้ในการลงโทษผู้เมาแล้วขับรถ มีโทษจำคุกและรอลงอาญา โดยมีเงื่อนไขให้ติด EM ส่วนตัวคิดว่าใช้การได้ดีแต่ปัญหาคือ EM ยังมีจำนวนน้อยมาก

 

ส่วนกรณีที่มีปัญหา คือผู้ต้องขัง ผู้ต้องหาในคดีอาญารับโทษสิ้นสุด หรือพ้นโทษได้รับการปล่อยตัวไปแล้วตามรัฐธรรมนูญ ก็จะดำรงสถานะเป็นประชาชนทั่วไป ผู้พ้นโทษหลายรายพ้นโทษออกจากเรือนจำไปก็กลับไปใช้ชีวิตเป็นพลเมืองดี แต่กรณีนายสมคิดนั้น ผมยอมรับว่าน่าจะเกิดจากความบกพร่องผิดพลาดในการกลั่นกรอง ซึ่งเป็นระบบทางกฎหมายที่ใช้มานาน ประกอบกับมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวของในการร่างกฎหมายดังกล่าว คงต้องมีมาตรการเพิ่มความเข้มข้นในการกลั่นกรองบุคคลเหล่านี้มากขึ้น

 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ในการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล  ว่า

 

“รัฐบาลได้ตระหนักและรับทราบโดยหามาตรการที่รัดกุม เพื่อไม่ให้นักโทษคดีอุกฉกรรจ์ทำผิดซ้ำ ผมได้สั่งการให้กระทรวงยุติธรรมไปหามาตรการที่เหมาะสม การลดหย่อนผ่อนโทษต้องไปพิจารณาใหม่ทั้งหมด เพราะยังเป็นกฎกติกาเดิมๆที่มีอยู่ วันนี้เราต้องปรับให้สอดคล้องกับรูปแบบปัจจุบัน ว่าคดีอุกฉกรรจ์ต้องทำอย่างไร รวมถึงต้องไปดูรัฐธรรมนูญ และกฎหมายกระบวนการยุติธรรมของโลก เพราะเข้าจ้องจับตาตรงนี้อยู่เหมือนกัน ฉะนั้น การแก้ไขอะไรก็ตามก็ต้องไม่กระทบซึ่งกันและกัน ซึ่งกำลังปรึกษาหารือกันอยู่”

 

matemnews.com 

17  ธันวาคม 2562