Home ข่าวทั่วไปรอบวัน นายกรัฐมนตรีเปิดสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบาราเชื่อมโยง 17 ประเทศ สู่เส้นทางสาย Digital Hub ของโลก

นายกรัฐมนตรีเปิดสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบาราเชื่อมโยง 17 ประเทศ สู่เส้นทางสาย Digital Hub ของโลก

818
0
SHARE

 

 

 

 

http://www.thaigov.go.th/

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบาราเชื่อมโยง 17 ประเทศ สู่เส้นทางสาย Digital Hub ของโลก เตรียมพร้อมไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ASEAN Digital Hub ตามนโยบายของรัฐบาล
วันนี้ (29 ก.ย. 60) เวลา 13.00 น. ณ สถานีเคเบิลใต้น้ำปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดใช้บริการสถานีเคเบิลใต้น้ำปากบารา โดยมีผู้บริหารของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมหัวหน้าส่วนราชการมารอให้การต้อนรับ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ เป็นโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม พร้อมขอให้เตรียมร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ไว้เพื่อบรรจุเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะไม่ทำแค่วันนี้เท่านั้น ต้องวางไปอีก 10 ปีข้างหน้าอีกด้วย ซึ่งต้องไปหาแนวทางว่าจะสามารถติดตั้งสายเคเบิลใยแก้วเชื่อมต่อตรงจุดไหนอย่างไร เพื่อการพัฒนาการสื่อสารของประเทศให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยง และไม่ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นแนวปะการัง สัตว์น้ำต่าง ๆ ที่จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อท้องทะเล

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอให้สร้างความเข้าใจ การรับรู้ และความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและประชาชนในพื้นที่ ว่าสร้างแล้วเขาจะได้อะไร ประเทศชาติจะได้อะไร สิงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงรับสั่งไว้ การพัฒนาประเทศไทยจำเป็นต้องมีการพัฒนาคู่ขนานกัน ไม่ใช่พัฒนาโดยใช้แนวทางตะวันตกเพียงอย่างเดียว จะต้องใช้ของตะวันออกควบคู่ไปด้วย เพราะแบบตะวันตกอาจทำให้ทุกอย่างพัฒนาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วแต่อาจจะไม่ยั่งยืน จนเกิดผลกระทบและความเสี่ยงต่าง ๆ การพัฒนาแบบตะวันออกอาจจะช้าแต่มีความมั่นคงมากกว่า หากเราสร้างความเข้มแข็งระดับฐานรากได้ก็จะเติบโตไปอย่างมั่นคง

สำหรับโครงการเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ AAE-1 (Asia-Africa-Europe1) โดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ร่วมกับกลุ่มลงทุนจากบริษัทโทรคมนาคมชั้นนำระหว่างประเทศ ดำเนินการก่อสร้างเคเบิลใต้น้ำความจุสูงระบบแรกที่มีเส้นทางหลักผ่านประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงไปยัง 17 ประเทศ และเพิ่มวงจรระหว่างประเทศรองรับบรอดแบนด์ของประเทศไทย ให้มีความหลากหลายและเพียงพอต่อการใช้งานในปัจจุบันและอนาคตระยะยาว ซึ่งเป็นโครงการเคเบิลใยแก้วใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ล่าสุด ที่ใช้รองรับการเชื่อมต่อสื่อสารโทรคมนาคม โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระหว่างประเทศ โดยมีระยะทางของเส้นเคเบิลใยแก้วนำแสงทั้งสิ้นประมาณ 25,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำข้ามทวีปที่มีความจุสูงเส้นแรก ที่มีแนวเคเบิลเส้นทางหลักจากฮ่องกง พาดผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีจุดขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา และเชื่อมต่อผ่านสายไฟเบอร์ออปติกภาคพื้นดิน (Thailand Crossing) ไปยัง จ.สตูล เพื่อเชื่อมต่อไปยังยุโรป เสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ที่ช่วยลดระยะทางการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างเอเชีย และยุโรป

นอกจากนี้ระบบ AAE-1 เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีระยะเวลาในการส่งข้อมูลระหว่างเอเชียตะวันออกและยุโรปต่ำสุด และยังเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำเส้นแรกที่ทำให้ประเทศไทยมีวงจรเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Hub) ที่สำคัญของโลก ได้แก่ฮ่องกง สิงคโปร์ และ ฝรั่งเศส และยังเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป รวม 18 ประเทศ ได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม กัมพูชา ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินเดีย ปากีสถาน โอมาน สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ กาตาร์ เยเมน จิบูตี ซาอุดิอาระเบีย อียิปต์ กรีซ อิตาลี และฝรั่งเศส ซึ่งจะสามารถช่วยเสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งบริการภาครัฐให้กับประชาชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรและโอกาสที่ทั่วถึง เท่าเทียม และเป็นธรรม ซึ่งครอบคลุมทุกหมู่บ้าน จะทำให้คนในชุมชนทุกชุมชน สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการดำรงชีวิตได้ทุกมิติ ทั้งการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจให้กับชุมชน ซึ่งจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าอย่างยั่งยืน

————————

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก