Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ปัจจัยลบเศรษฐกิจไทยปี 2563 – ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจแถลง

ปัจจัยลบเศรษฐกิจไทยปี 2563 – ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจแถลง

437
0
SHARE

 

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิบดีมหาวิทยาลัยหอการค้า ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ แถลงข่าวเมื่อบ่าย 13 ม.ค.2563 ว่า

 

ศูนย์พยากรณ์ฯ ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปีนี้ลดลงเหลือโต 2.8% จากเดิมคาดโต 3.1% ขณะที่ด้านการส่งออกคาดขยายตัว 0.8% จากเดิมคาดโต 1.8% ด้านการนำเข้าคาดติดลบ 0.1% จากเดิมคาดโต 0.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้คาดอยู่ที่ 0.9% จากเดิมคาด 1% ด้านการลงทุนภาครัฐคาดอยู่ที่ 6.5% และการลงทุนเอกชนคาดอยู่ที่ 4.1% ด้านปี 2562 ศูนย์พยากรณ์ฯ คาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 2.5% โดยมองการส่งออกจะติดลบ 2.5% และนำเข้าติดลบ 4.2% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดอยู่ที่ 0.7%

 

อัตราแลกเปลี่ยนในปีนี้คาดว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าเฉลี่ยที่ 29.5-31 บาท จากเดิมคาด 29.75-31.25 บาท ส่วนราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ คาดอยู่ที่ 60-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมคาด 60-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศคาดอยู่ที่ 41.4-41.8 ล้านคน จากเดิมคาด 41.6-42 ล้านคน และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดอยู่ที่ 1-1.25% โดยมองว่า หากเศรษฐกิจยังชะลอตัว มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยได้ 1 ครั้ง

 

ปัจจัยบวกต่อภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ประกอบด้วย สงครามการค้าเริ่มมีสัญญาณคลี่คลาย เศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับดีขึ้น ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของรัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน การลงทุนของภาคเอกชนเริ่มมีสัญญาณดีขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC และธนาคารกลางทั่วโลกต่างปรับนโยบายการเงินเป็นแบบผ่อนคลาย

 

ปัจจัยลบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ประกอบด้วย ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ กับอิหร่าน เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องและแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินหลักอื่นๆ

 

ความเสี่ยงจากภัยแล้งในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลต่อจีดีพี 0.03% หนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงินและการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

 

ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

 

ที่เราค่อนข้างห่วงมาก คือ ค่าเงินบาท แต่หลังจากที่จะตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพขึ้นมา เชื่อว่า กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะทำให้มีมาตรการออกมารับมือและไม่ทำให้ค่าเงินบาทหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์เร็ว ขณะที่พ.ร.บ.งบประมาณ แม้จะผ่านแล้ว แต่เชื่อว่าเม็ดเงินจะเข้าสู่ระบบได้ในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน เป็นต้นไป

 

จากการประเมินผลกระทบในเบื้องต้น คาดว่าจะมีเม็ดเงินหายไปจากระบบประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็น จากภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ที่คาดเม็ดเงินจะหายไป 70,000-80,000 ล้านบาท

 

จากผลกระทบจากภัยแล้ง 10,000 ล้านบาท และจากราคาน้ำมัน 10,000 ล้านบาท

 

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษาประจำของสภามหาวิทยาลัย และประธานโครงการ Herbour.Space@UTCC แถลงว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยประจำเดือนธันวาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ 45.7 ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ 45.9 ซึ่งลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 และเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 24 เดือน และยังไม่เห็นสัญญาณในการฟื้นตัว โดยปัจจัยที่มีผลกระทบด้านลบต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 โดยคาดว่าจะขยายตัว 2.5% จากเดิมคาด 2.8 % ส่วนในปี 2563 คาดว่าจะขยายตัว 2.8 % จากเดิมคาดขยายตัว 3.3 %

 

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาลดลง 7.39% ด้านการนำเข้าลดลง 13.78 % ขณะเดียวกันยังมีความกังวล เกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ กับจีน ปัญหา Brexit รวมทั้งกรณีที่สหรัฐตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกสินค้าไทยด้วย ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การบริโภคที่ชะลอตัว

 

ปัจจัยบวก ที่มีต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประกอบด้วย กนง.มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25 % ผลของมาตรการกระตุ้นของภาครัฐช่วยกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4/2562 เติบโตอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการลงทุนของโรงงานที่ได้รับอนุญาตการประกอบกิจการขยายตัวสูงถึง 445,025 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 37.94 %

 

แนวทางการดำเนินการแก้ไข ประกอบด้วย การสร้างความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และสถานการณ์การเมือง หรือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ชัดเจน เช่น มาตรการหรือแนวนโยบาย เป็นต้น กระตุ้นเศรษฐกิจโดยกระตุ้นด้านการบริโภค และผลักดันการส่งออกสินค้าไทยให้ขยายตัวได้ชัดเจน

 

นอกจากนี้ ยังต้องสร้างความสมดุลของราคาพืชผลทางการเกษตรให้ได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการ รวมถึงสนับสนุนให้มีโครงการในระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อแก้ปัญหาด้านเกษตรกรรมอย่างเป็นรูปธรรม มาตรการป้องกันการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากสถานการณ์ธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม เพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมถึงการจัดการลดค่าครองชีพประชาชนในระยะยาว รวมถึงการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศดีขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศ โดยสามารถกระจายความเจริญไปทั่วทุกภูมิภาค

 

matemnews.com 

13 มกราคม 2563