Home ข่าวทั่วไปรอบวัน นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล รพ.ราชวิถี

นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล รพ.ราชวิถี

421
0
SHARE

นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล รพ.ราชวิถี พร้อมมอบยาต้านไวรัสโควิด – 19 เฟวิลาเวียร์ จำนวน 10,000 เม็ด ให้แก่โรงพยาบาลในกทม. เชื่อมั่นกระบวนการรักษาของไทยมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (12 มี.ค. 63) เวลา 15.00 น. ณ อาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้เดินทางมาให้กำลังใจผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ โดยมีนายแพทย์สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่มารอให้การต้อนรับ โดยมีคณบดีแพทยศาสตร์ทั้งสามแห่ง โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราช และผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ร่วมคณะด้วย
นายกรัฐมนตรีตรวจเยี่ยมจุดคัดกรองด้วยเครื่องเทอร์โมสแกน บริเวณชั้น 1 และได้ชมการเต้นออกกำลังกายของโรงพยาบาล ซึ่งได้ทำเป็นประจำทุกวัน ก่อนตรวจเยี่ยมคลินิกไข้หวัด ARI clinic (Acute Respiratory Infection Clinic) ซึ่งให้บริการแบบ One Stop Service โดยทีมแพทย์จะตรวจ คัดกรอง วินิจฉัยและให้การรักษาในจุดบริการเดียวอย่างเบ็ดเสร็จ โอกาสนี้ ได้มอบยาต้านไวรัสโควิด – 19 เฟวิลาเวียร์ จำนวน10,000 เม็ด ให้แก่โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ เพื่อนำไปกระจายให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลในเครือ Uhosnet และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร พร้อมมอบกระเช้าให้กำลังใจแก่ตัวแทนญาติผู้ป่วย แพทย์และพยาบาล ทั้งนี้ สถานบันการแพทย์ของไทยทุกแห่งทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของไทย ร่วมมือสร้างความเชื่อมั่นกระบวนการรักษาของไทย

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณทีมแพทย์พยาบาลที่เสียสละและทำงานหนักในการดูแลรักษาคนไข้ ซึ่งประชาชนต้องดูแลสุขภาพ มีการป้องกันตนเอง งดเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือกลุ่มประเทศที่มีการระบาด ทุกคนไม่ว่าจะเป็นดาราหรือผู้มีชื่อเสียงที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ขอให้กักตนเอง 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ และร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคม ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เน้นคุมเข้มสถานบันเทิงหรือสถานที่จัดงานขนาดใหญ่ที่มีประชาชนรวมตัวอยู่จำนวนมาก หรือหากจะมีการจัดงาน ต้องมีมาตรการการคัดกรองอย่างเข้มงวด พร้อมตั้งจัดหาเจลแอลกอฮอล์น้ำยาฆ่าเชื้อต้องมีพร้อมอีกด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาโควิด – 19 ของรัฐบาล การทำงานทุกกระทรวงเดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการรักษาของไทยมีมาตรฐานและเป็นที่น่าพอใจ สถานบันการแพทย์ของไทยทุกแห่งทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนแพทย์ชั้นนำของไทย ร่วมมือย้ำความเชื่อมั่นแห่งกับกระบวนการรักษาของไทยยิ่งขึ้น รวมทั้งรัฐบาลเสริมมาตรการเข้มงวดทุกด้านทั้ง การคัดกรอง และการใช้แอพพลิเคชั่นติดตามเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 โดยจะมีการเก็บข้อมูล แจ้งเตือน ติดตามตัวผ่านทางโทรศัพท์มือถือได้ ทุกอย่างทำให้รัดกุมที่สุด สำหรับการทำงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 บูรณาการงานร่วมกัน เพื่อร่วมมือร่วมใจกัน สู้ด้วยกัน และเราจะผ่านวิกฤตไวรัสนี้ไปได้อย่างแน่นอน

…………………..
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

 

……………………………

 

วันนี้ (12 มี.ค. 2563) เวลา 14.00 น.ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล COVID-19 ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล  นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขแถลงชี้แจงข้อสงสัยในประเด็นสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 การปรับพัฒนาการดูแลสุขภาพกลุ่มที่มีความเสี่ยง และการเปิดตัวแอปพลิเคชัน ThaifightCOVID

โอกาสนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียืนยันว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ 2 และยังคงดำเนินมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น และจะรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาแก่พี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องทุกวัน

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า วันนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 จากโรคระบาด (Epidemic) เป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก (Pandemic) อย่างเป็นทางการ โดยมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 121 ประเทศ 120,000 ราย เป็นผู้ที่มีอาการหนัก 5,700 ราย ปัจจุบันไทยมีผู้ติดเชื้อ 70 ราย รักษาหายแล้ว 35 ราย โฆษกกระทรวงสาธารณสุขยังย้ำถึงมาตรการเฝ้าระวังตัวเอง (Quarantine) เกี่ยวข้องกับ 4 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.) ขอให้อยู่ในที่ที่เหมาะสม ประพฤติตนตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด  2.) ขอให้ติดต่อได้  3.) ถ้าพบว่ามีอาการป่วย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทันที และ 4.) จะบังคับใช้กฎหมายเข้าควบคุม กรณีไม่ให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาการเฝ้าระวังตนที่บ้าน 14 วัน นั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชนช่วยดูแลตามหลักวิชาการ จึงขอฝากไปถึงประชาชนว่า ผู้เฝ้าระวังตนเป็นเพียงผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ใช่ผู้ป่วย ต้องให้กำลังใจและชื่นชมว่าเป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม

จากนั้น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงไม่มีการปิดศูนย์เฝ้าระวังเพียงแต่ปรับรูปแบบในการดูแลกลุ่มที่มีความเสี่ยง และพัฒนาให้ศูนย์ที่ดูแลกลุ่มที่มีความเสี่ยง สามารถใช้ประโยชน์อื่น ๆ ตามสถานการณ์ เช่น ได้เตรียมโรงพยาบาลบางขุนเทียนเพื่อเป็นศูนย์ในเขตกรุงเทพมหานคร  อย่างไรก็ตาม จากเดิมที่ใช้มาตรการ State Quarantine หรือ Local Quarantine คือ การควบคุมติดตามดูแลกลุ่มผู้เสี่ยงในพื้นที่ที่จัดหาโดยรัฐบาลรวมทั้งในภูมิลำเนานั้น จะให้เน้นเป็น Home Quarantine คือ การเฝ้าระวังตนเองที่พักอาศัย โดยใช้กลไกความร่วมมือขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ภาคประชาสังคม ช่วยกันสอดส่องดูแล ซึ่งการเฝ้าตนเองที่บ้านช่วยให้ได้รับความสะดวกสบายทั้งทางกายและทางจิตใจ เนื่องจากมีคนดูแลอย่างใกล้ชิดในพื้นที่ที่ตนคุ้นเคย เน้นใช้ความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน ซึ่ง ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะเข้าไปติดตามดูแลสุขภาพของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อเนื่องทุกวัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังแถลงเพิ่มเติมว่า ไทยไม่ได้มีการปิดประเทศแต่เพียงเพิ่มความเข้มงวดและรัดกุมในการเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งการยกเลิกฟรีวีซ่า 3 ประเทศ และการยกเลิกวีซ่า On Arrival 18 ประเทศ เป็นหนึ่งในมาตรการลดการแพร่ระบาดของโควิด – 19  โดยจะให้มีผลตั้งแต่ 13 มีนาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2563 ชาวต่างประเทศยังสามารถเดินทางมาไทยได้ โดยยื่นขอวีซ่า ณ สถานเอกอัครราชทูตในประเทศนั้น ๆ โดยอาจต้องมีเอกสารเพิ่มเติม เช่น ใบรับรองแพทย์ ประกันสุขภาพ ประกันสังคม เพื่อเป็นการรับรอง อาจเพิ่มเติมความปลอดภัยโดยอนุมัติวีซ่าหลังจากนั้นประมาณ 14 วัน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการการเฝ้าระวังสังเกตอาการของกระทรวงสาธารณสุขอีกด้วย
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยภายใต้ชื่อ #ThaiFightCOVID โดยเปิดตัวแอปพลิเคชัน AOT Airports สำหรับใช้เก็บข้อมูลเพื่อติดตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ราชอาณาจักรไทย รวมถึงชาวไทยที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปเก็บรวบรวมที่กรมควบคุมโรค เพื่อเจ้าหน้าที่ติดตามพิกัดที่อยู่ของผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงและผู้เดินทางร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว และ จะถูกลบออกจากระบบภายใน 14 วัน ตามการคุ้มครองข้อมูลส่ในบุคคลตามหลักการสากล สำหรับแอปพลิเคชัน SydeKick for ThaifightCOVID นั้น จะเป็นเครื่องมือเสริมสำหรับเจ้าหน้าที่เพื่อติดตามและเฝ้าระวังผู้ที่ต้องกลับไปกักตัวที่ภูมิลำเนาเดิม ติดตาม พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของกลุ่มเสี่ยง โดยจะทำงานควบคู่กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดที่จะคอยดูแลอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้โดยสารที่เป็นลูกค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวที่เปิดโรมมิ่งไว้แล้ว สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ทันที ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่มีซิมการ์ดสามารถซื้อซิมการ์ดได้จากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่วางจำหน่าย ในราคา 49 บาท ซึ่งสามารถใช้ได้ 14 วัน โดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจสอบรายละเอียดข้อมูล ก่อนอนุญาตให้เข้าประเทศต่อไป

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อ เป็นเพียงผู้เฝ้าระวัง เราทุกคนจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ หากพี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือ ให้ความรักและกำลังใจซึ่งกันและกัน

……………………………………
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก