นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความคืบหน้านโยบายการปรับเพิ่มอัตราความเร็วของรถยนต์เป็น 120 กม./ชม. ว่า
เบื้องต้นกำหนดให้คิกออฟเปิดให้ประชาชนใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ในวันที่ 1 เม.ย.2564 นี้ เนื่องจาก เป็นวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ในช่องจราจรขวาสุดบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง กม.ที่ 4+100-50+000 ระยะทางประมาณ 50 กม. ซึ่งเป็นเส้นทางนำร่องสายแรกในไทย
และในวันดังกล่าว จะประกาศเส้นทางที่จะดำเนินการในระยะที่ 2 ด้วย
เบื้องต้นมีระยะทางรวมประมาณ 240 กม. แบ่งเป็น ถนน ทล. 150 กม. และถนน ทช. 90 กม. เช่น ถนนราชพฤกษ์ และถนนชัยพฤกษ์ โดยจะใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ซึ่งขณะนี้กองทุนดังกล่าวมีเงินคงเหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้ง ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม ไปพิจารณาขอสนับสนุนเงินจากกองทุนความปลอดภัยทางถนนของต่างประเทศได้หรือไม่ ทั้งในรูปแบบของการขอเงินสนับสนุนแบบให้เปล่า และการกู้ยืมเงิน
ส่วนเฟสที่ 2 จะให้ประชาชนใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ได้หลังจากคิกออฟเส้นทางนำร่องแล้วประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งจะมีระยะทางเพิ่มเติมหรือไม่ ต้องรอกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) วิเคราะห์รายละเอียดในเส้นทางอื่นๆ อีกครั้ง เนื่องจากในการประชุมครั้งนี้มีการเสนอเส้นทางที่มีศักยภาพที่จะสามารถให้ใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. เข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยจะเสนอให้กระทรวงคมนาคม ทราบก่อนวันที่ 1 เม.ย.2564 นี้
ทั้งนี้ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ต้องเร่งติดตั้งป้ายบอกความเร็ว ปิดจุดกลับรถ การสร้างสะพานลอยข้ามถนน ที่สามารถให้คน รถจักรยานยนต์ และรถจักรยาน สามารถข้ามผ่านถนนได้ โดยพิจารณาจากแนวทางการดำเนินการของต่างประเทศ ที่จะมีจุดกลับรถในทุกๆ 10 กิโลเมตร เพื่อความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ และผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้ง จะต้องไปบูรณาการกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในเรื่องป้ายจราจร และบทลงโทษตามกฎหมาย และเตรียมว่าจ้างสถาบันการศึกษา เพื่อประเมินผลการดำเนินการด้วย
ส่วนจะมีการประกาศให้สามารถใช้ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในเส้นทางใดเพิ่ม จะต้องประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้ประชาชนทราบรายละเอียดว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ และเส้นทางใดบ้าง หลังจากเปิดให้ประชาชนสามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. แล้ว จะให้สถาบันการศึกษาเข้ามาประเมินผลโครงการด้วยว่า การดำเนินงานดังกล่าวทำให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยหรือไม่