นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่ 1 ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวที่รัฐสภา เมื่อตอนเช้าวันที่ 9 ต.ค.2560 ถึงกรณีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้ ไปแล้วเมื่อ 7 ต.ค.2560 ซึ่งจะต้องเกี่ยวโยงกับการทำกิจกรรมของพรรคการเมือง ว่า
“เชื่อว่า ทาง คสช. กำลังพิจารณาอยู่ในเรื่องการปลดล็อคคำสั่ง คสช. ให้พรรคการเมืองทำกิจการรมได้ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายพรรคการเมือง เชื่อว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 ต.ค. 2560 ไม่แน่ อาจมีวาระดังกล่าวเข้าพิจารณาหรือไม่ ผมก็กำลังติดตามรับฟังอยู่ เพราะอยากรู้เหมือนกัน ว่ามติ ครม. จะออกมาอย่างไร”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้า คสช. ยังไม่ปลดล็อคให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม แต่กรอบเวลาของพรรคการเมืองเดินแล้ว จะมีผลอย่างไร ตอบว่า
“เป็นเรื่องนโยบายที่ไปผูกกับเรื่องความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เชื่อว่า คสช. คงกำลังพิจารณาอยู่ และน่าจะมีข่าวดีออกมาเร็วๆนี้”
ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วย การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยสมาชิกวุฒิสภาว่า ในส่วนของ สนช.ได้มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาร่างพ.ร.ป.ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งจะนัดประชุมในสัปดาห์นี้ เพื่อทำงานควบคู่ไปกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อส่งมายัง สนช. จะได้พิจารณาปรับปรุงไม่ให้เกิดความล่าช้า ทั้งหมดเป็นเรื่องความรอบคอบและความตั้งใจระหว่าง สนช.กับ กรธ. อีกทั้งแสดงให้เห็นว่า ต้องการทำงานอย่างกระชับเวลาจึงทำงานร่วมกัน ไม่เช่นนั้นหากมีความคิดเห็นที่แย้งกันก็จะต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมอีก อาจถูกตำหนิได้ว่า ทำไมก่อนหน้านี้ไม่ทำให้เกิดความชัดเจน ดังนั้นเราจึงต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน และเมื่อเข้า สนช. แล้วในวาระแรกทาง สนช. ยังเปิดโอกาสให้ กรธ. ส่งตัวแทนมาร่วมเป็นกรรมการด้วย เพราะหากมีอะไรโต้แย้งจะสามารถทำได้ทันที
ผู้สื่อข่าวถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่าจะประกาศวันเลือกตั้งปลายปี 2561 ขณะนี้มีการส่งสัญญาณมาให้ สนช.ให้คว่ำกฎหมายลูกเพื่อให้การเลือกตั้งช้าออกไปหรือไม่ นายสุรชัย ตอบว่า
“ไม่มีอะไรทั้งนั้น เหตุการณ์ปกติ เดินเป็นไปตามขั้นตอนตามที่ผมพูดมา และไม่ได้รู้สึกว่า เป็นการส่งสัญญาณอะไร นายกรัฐมนตรีพูดในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบภาพรวมประเทศ และในฐานะหัวหน้า คสช. เวลาอาจบวกลบบ้างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับรายละเอียดหลักเกณฑ์กฎหมาย และขึ้นอยู่กับความเห็นพ้องต้องกันหรือไม่ เช่น กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. ก็ต้องฟังความคิดเห็นจากบรรดานักการเมืองทั้งหลายว่า เกณฑ์ใดที่คิดว่า ก่อให้เกิดการเสียเปรียบได้เปรียบในเวลามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ แต่ในส่วนของผู้ออกแบบกฎหมายเชื่อว่า ได้ออกแบบว่า ทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ และสะท้อนประชาธิปไตยมากที่สุด ไม่ได้คิดว่า ออกแบบเพื่อให้พรรคหนึ่ง พรรคใดเสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่การออกแบบดังกล่าวขึ้นอยู่กับผู้มีส่วนได้เสียของแต่ละฝ่าย คนที่เป็นคนกลางที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้มีการเลือกตั้ง ก็ต้องคิดให้การเลือกตั้งมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม นำไปสู่ประชาธิปไตย หลักคิดของคนทำงาน และหลักคิดคนที่จะลงเลือกตั้งต่อไปในอนาคต อาจคิดไม่เหมือนกัน บนพื้นฐานที่เป็นกฎหมายฉบับเดียวกัน ดังนั้นต้องรับฟังทุกฝ่ายเพื่อประสานประโยชน์ทางการเมือง และให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันมากที่สุด”
Matemnews.com 9 ตุลาคม 2560