ผู้พิพากษา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตั้งอยู่ในซอยสีคาม ถนนนครไชยศรี ได้ออกนั่งบังลังค์ เมื่อตอนเช้าวันที่ 19 ต.ค.2560 อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง
นางเบญจา หลุยเจริญ อดีต รมช.คลัง สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร ,
น.ส.จำรัส แหยมสร้อยทอง , น.ส.โมรีรัตน์ บุญญาศิริ
นายกริช วิปุลานุสาสน์
ทั้งสามเป็นอดีต ผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง
น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนใกล้ชิดเลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรยานายทักษิณ ชินวัตร
เป็นจำเลยที่ 1 – 5 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดย ป.ป.ช. โจทก์ นำคดียื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2558 ระบุพฤติการณ์ความผิดสรุปว่า จำเลยที่ 1 – 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อไม่ให้นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร บุตรนายทักษิณ ต้องเสียภาษีอากรหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่จะต้องเสีย และได้รับประโยชน์ที่มิควร โดยชอบด้วยกฎหมาย
จากกรณีเมื่อปี 2549 นายพานทองแท้ และน.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด คนละ 164,600,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท ขณะที่ราคาตลาดหุ้นๆละ 49.25 บาท ถือได้ว่านายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 39 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีส่วนต่างราคาหุ้น คนละ 7,941,950,000 บาท ซึ่งการกระทำของพวกจำเลยดังกล่าวนั้นทำให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และราชการได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิดด้วย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ก.ค.59 เห็นว่า
นางเบญจา อดีต รมช.คลัง , น.ส.จำรัส , น.ส.โมรีรัตน์ และนายกริช อดีตผอ.สำนักกฎหมาย กรมสรรพากร จำเลยที่ 1-4 มีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 83 ให้จำคุกคนละ 3 ปี
ส่วน น.ส.ปราณี คนใกล้ชิด เลขานุการส่วนตัวของคุณหญิงพจมาน จำเลยที่ 5 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ 86 มีโทษ 2 ใน 3 จึงให้จำคุก 2 ปี
เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีของจำเลยทั้งหมดไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ ต่อมาจำเลยทั้งห้า ยื่นอุทธรณ์คดี และได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี คนละ 300,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ
ศาลอุทธรณ์ ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว โดยพิจารณาคำอุทธรณ์ของจำเลยทุกประเด็นทั้งเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์และ ประเด็นว่าการตอบข้อหารือของจำเลยที่ทำหนังสือสอบถามกรมสรรพากร ก่อนทำให้เกิดความเสียหายแก่กรมสรรพากรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ กับเหตุผลสมควรลงโทษสถานเบาหรือให้รอการลงโทษจำคุกหรือไม่นั้น โดยศาลอุทธรณ์ เห็นว่า ทุกประเด็นในคำอุทธรณ์ของ จำเลยทั้งห้านั้นฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยทั้งห้า โดยไม่รอการลงโทษนั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย โ
ดยตามสภาพความผิดของจำเลยทั้งห้าเป็นการกระทำโดยมิได้คำนึงถึงความเสียหายและความน่าเชื่อถือในการจัดเก็บภาษีอากรของประเทศชาติพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จำเลยจะอ้างว่าเรื่องนี้ในที่สุดแล้วก็มิได้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษายึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องไปหมดแล้ว และศาลภาษี อากรกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนการประเมินภาษีของกรมสรรพากรไปแล้ว มาเป็นข้ออ้างเพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์ รอการลงโทษไม่ได้ อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
หลังจากนั้นทนายความได้ยื่นขอประกันปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมหลักทรัพย์ โดยรออยู่จนถึง 16.30 น.หมดเวลาราชการ ไม่มีคำสั่งใดลงมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จึงคุมตัวจำเลยทั้ง 5 ส่งเรือนจำ
Matemnews.com 19 ตุลาคม 2560