นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2561 ถึงขั้นตอนการยึดทรัพย์ 13 แกนนำพันธมิตร ว่า
“อัยการสำนักงานบังคับคดีจะมีอำนาจในการบังคับคดีในส่วนที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องหรือคดีในส่วนอาญาที่ศาลมีคำพิพากษาให้ปรับหรือชำระค่าเสียหาย คดีนี้อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 13 คน โดยอัยการจะช่วยดำเนินการสืบหาทรัพย์ ด้วยการออกหนังสือสอบถาม เรื่องทรัพย์สินของจำเลยไปตามหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งเรื่องการถือหุ้น บัญชีเงินฝากในธนาคาร หรือที่ดินที่มีการถือครอง ตามสำนักงานที่ดิน และเมื่อสืบทรัพย์ได้ความว่า จำเลยมีทรัพย์สินอยู่ที่ใดก็จะแจ้งให้ ทอท.เจ้าของเรื่องนำเจ้าพนักงานบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ไปยึดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ได้ออกคำบังคับไว้ ซึ่งทรัพย์ที่ยึดได้จักต้องนำมาขายทอดตลาด หากนำมาชำระเเล้วยังไม่เพียงพอ อัยการก็จะดำเนินการตามหน้าที่คือเเจ้งตัวความ ถ้า ทอท.มีหนังสือมาขอให้ฟ้องล้มละลายจำเลย ทางสำนักงานอัยการสูงสุดก็มีกองคดีล้มละลายเพื่อยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลล้มละลายกลางต่อไป หากพบว่ามีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินสำนักงานอัยการฝ่ายการบังคับคดีก็คงจะต้องนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อพิจารณามีความเห็นให้ดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป อัยการมีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย ทำตามคำพิพากษา ที่ศาลออกคำบังคับมา ศาลสั่งอย่างไร อัยการมีหน้าที่ทำตามคำพิพากษา หน้าที่ที่ต้องทำก็คือไปดำเนินการสืบหาทรัพย์ แล้วแจ้ง ทอท.เจ้าของเรื่องให้ทราบ เพื่อให้ ทอท.ไปดำเนินการนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา มาขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา อัยการทำหน้าที่ตามกฎหมาย เหมือนเช่นคดีทั่วๆ ไป เช่น คดี คุณรักเกียรติ สุขธนะ อดีต รมว.สาธารณสุข ที่มีการฟ้องคดีไปอัยการก็ทำหน้าที่ตามคำพิพากษา หมายบังคับคดีดำเนินการ ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดไปแล้ว ได้เงินมา 35 ล้านบาท ส่งคืนให้แผ่นดิน นี่คือหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐในชั้นบังคับคดี โดยสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดีเข้าไปปฏิบัติหน้าที่”
Matemnews.com 7 มกราคม 2561