Home ข่าวทั่วไปรอบวัน เติมเงินบัตรคนจนให้อีกเดือนละ 200 บาทเป็น 500 บาท  อย่างมีเงื่อนไข

เติมเงินบัตรคนจนให้อีกเดือนละ 200 บาทเป็น 500 บาท  อย่างมีเงื่อนไข

804
0
SHARE

 

 

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงแก่ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล  หลังการประชุมครม.เมื่อวันที่ 9 ม.ค.2561 ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ใช้เงินงบประมาณรวม 35,679 ล้านบาท โดยหนึ่งในมาตรการที่ทำ คือ การจัดสรรเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นภายในบัตรสวัสดิการให้กับผู้ที่มีรายได้น้อย วงเงิน 13,872 ล้านบาท

 

แบ่งเป็น ผู้ที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 3 หมื่นบาท ได้รับเงินเพิ่มคนละ 200 บาทต่อเดือน

 

ผู้ที่มีรายได้สูงกว่าปีละ 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท ได้รับเงินเพิ่มคนละ 100 บาทต่อเดือน

 

เชื่อว่า จะช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยมีรายได้พ้นเส้นความยากจนได้ประมาณ 4.7 ล้านคน

 

การจะรับเงินเพิ่มดังกล่าวได้    ต้องอยู่ในเงื่อนไข  เป็นผู้ที่มีรายได้น้อยที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมการพัฒนารายบุคล ทั้ง  ฝึกอาชีพ  และพัฒนาทักษะ ตามที่รัฐบาลกำหนด

 

ผู้ที่เข้ารับการฝึกอาชีพแล้ว  จะได้รับเงินในเดือนถัดไป  หลังจากที่ได้แสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการได้จนถึงเดือนธ.ค.2561 เบื้องต้น คาดว่า เงินก้อนแรกจะลงไปถึงมือได้ประมาณเดือนมี.ค.2561 นี้ และในการดำเนินการดังกล่าว หากผู้ที่เข้าร่วมฝึกอบรมผิดเงื่อนไขไม่ทำตามที่กำหนดไว้ รัฐจะหักเงินเพิ่มในเดือนถัดไปออกทันที

 

นอกจากการจัดสรรวงเงินเพิ่มให้ผู้มีรายได้น้อยแล้ว ยังมีโครงการต่างๆของหน่วยงานภาครัฐที่จะเข้าไปพัฒนาผู้มีรายได้น้อย รวมกันถึง 34 โครงการ ทั้งการส่งเสริมให้มีงานทำ 5 โครงการ การฝึกอบรมและการศึกษา 10 โครงการ การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ 11โครงการ และการเข้าถึงสิ่งจำเป็นพื้นฐาน 8 โครงการ

 

ในจำนวนนี้มีโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินงบประมาณจากภาครัฐ 6โครงการ วงเงินรวม 18,807 ล้านบาท ทั้งโครงการเพิ่มทักษะอาชีพเกษตรกร 110 หลักสูตร การจ้างแรงงานภาคเกษตรก่อสร้างและบำรุงรักษางานชลประทาน ของกระทรวงเกษตรฯ ฝึกอาชีพเร่งด่วนช่างเอนกประสงค์ จัดหลักสูตรฝึกอาชีพเสริม 3 หลักสูตร และค้นหาตำแหน่งงานว่างผ่านตู้งาน ของกระทรวงแรงงาน

 

ขณะเดียวกันยังมีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายและค่าลงทุนในการรวมกลุ่มการผลิตและบริหารจัดการร่วมกันของวิสาหกิจชุมชน วงเงินกลุ่มละไม่เกิน 10 ล้านบาท และยังมีโครงการปรับโครงสร้างหนี้ โดยจะพักชำระเงินต้นให้ 2 ปี รวมทั้งโครงการสนับสนุนสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ระยะที่ 2 วงเงินสินเชื่อรวม 1 หมื่นล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท

 

matemnews.com  9 มกราคม 2561