Home ข่าวทั่วไปรอบวัน จันทบุรี – ผลักดันมุ่งสู่การเป็น “มหานครผลไม้โลก”

จันทบุรี – ผลักดันมุ่งสู่การเป็น “มหานครผลไม้โลก”

946
0
SHARE

 

 

 

 

นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมกระบวนการบริหารจัดการผลไม้อย่างครบวงจร สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด จังหวัดจันทบุรี ผลักดันสู่ เพื่อมุ่งสู่การเป็น “มหานครผลไม้โลก”

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2561) เวลา 16.00 น. ณ สหกรณ์การเกษตรมะขาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการบริหารจัดการผลไม้อย่างครบวงจรเพื่อมุ่งสู่การเป็น “มหานครผลไม้โลก” และพบกลุ่มเกษตรกรผู้ประกอบการแปรรูปผลไม้ พร้อมชมวีดีทัศน์ “ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออก”

โดย นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานสักขีพยานเนื่องในโอกาสที่กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหอการค้าไทย จัดให้มีการลงนาม MOU ความร่วมมือการผลักดันประเทศไทยเป็นมหาอำนาจด้านผลไม้เมืองร้อนของโลก และ MOU เชื่อมโยงตลาดผลไม้ระหว่างหอการค้าแหล่งผลิต กับหอการค้าที่เป็นตลาดรองรับ ในประเทศและต่างประเทศ ตามยุทธศาสตร์ผลไม้

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสักขีพยาน พร้อมนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ เนื่องในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกิน ให้ชุมชนภาคตะวันออก และเป็นประธานสักขีพยานเนื่องในโอกาสที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มอบเงินสนับสนุนส่งเสริมสหกรณ์การเกษตร ดังนี้ 1. การลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการใช้เครื่อง จักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงาน ให้แก่สหกรณ์โคนมสอยดาว จำกัด 2. การเพิ่มศักยภาพการด้าเนินธุรกิจสินค้าเกษตรให้แก่สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด และสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏ จำกัด  3. การสนับสนุนการขุดสระน้ำ 2 แห่ง ให้แก่สหกรณ์การเกษตรโป่งน้าร้อน จำกัด และสหกรณ์การเกษตรเขาคิชฌกูฏจำกัด

โอกาสนี้  นายกรัฐมนตรีได้กล่าวพบปะประชาชน ชาวสวนผลไม้ เกษตรกร และกลุ่มอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป ที่มาให้การต้อนรับตอนหนึ่งว่า สหกรณ์การเกษตรเป็นอีกหน่วยงานที่มีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนการส่งเสริมให้เกษตรกรมีความพร้อมในทุกด้าน ด้วยการสนับสนุนและดูแลในเรื่องต่าง ๆ  ทั้งเรื่องเงินทุนที่ดินทำกิน ด้านปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น เช่น ชลประทาน คมนาคม รวมถึงด้านการตลาด การกระจายสินค้า ดังนั้น การดำเนินงานผ่านการเป็นสมาชิกสหกรณ์จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่เกษตรกรในเรื่องความมั่นคงของอาชีพและคุณภาพชีวิตที่ดีได้  และจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยดูแลการบริหารจัดการตลาดผลไม้ และอุตสาหกรรมแปรรูปผลไม้ได้อย่างดี ทั้งนี้ ภาครัฐพร้อมจะสนับสนุนการประกอบอาชีพของพี่น้องประชาชน เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนสามารถมีพื้นที่ในการทำงานและหารายได้และมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในบางพื้นที่หรือบางกลุ่ม อาจจะไม่ได้รับทั้งหมด รัฐบาลก็จะรีบเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างทั่วถึงต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า จังหวัดจันทบุรีมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน มีวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์สามารถอนุรักษ์และรักษาประเพณีวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้คงอยู่ไว้อย่างงดงาม ทั้งศิลปะและธรรมชาติคือความโดดเด่น อาหารการกินก็มีความแตกต่าง รวมถึงตึกอาคารและที่อยู่อาศัยของคนในชุมชนยังคงมีความเรียบง่าย ซึ่งสามารถพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ โดยเฉพาะชุมชนริมน้ำจันทบูร ที่มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชนที่ชุมชน ถือได้ว่าชุมชนนี้ได้มีการบริหารจัดการตนเองได้อย่างดี มีการรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่เกิดจากฐานรากของวัฒนธรรมชุมชน และสร้างเป็นเศรษฐกิจ ฐานรากจากชุมชน โดยการส่งเสริมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก พร้อมทั้งการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอาคารต่าง ๆ ให้ยังคงอยู่อย่างสวยงาม ตลอดจนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ชุมชน การสร้างตลาดวัฒนธรรม และการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนผสมผสานกันอย่างลงตัวทั้งของไทย จีนและญวน เป็นวิถีชีวิตแบบพหุวัฒนธรรมของชุมชนพุทธ คริสต์อิสลาม แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีในชุมชนที่ต้องการสร้างอัตลักษณ์ของท้องถิ่นตน  ให้มีความน่าสนใจ น่าอยู่ และมีคุณค่า

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความตั้งใจและทุ่มเทในการพัฒนาจังหวัดจันทบุรีร่วมกัน โดยขอให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน และเพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชาติบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง พร้อมขอให้ทุกคนมีความสุข ความเจริญ มีกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมและประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

ก่อนเดินทางกลับ นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมบูธผลิตภัณฑ์ผลไม้และผลไม้แปรรูปของกลุ่มสหกรณ์เกษตรจังหวัดจันทบุรี และกลุ่มเกษตรกรการพัฒนา เดินชมกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพและแปรรูปแบบยั่งยืน พร้อมทักทายประชาชนที่มารอต้อนรับและกล่าวชื่นชมการทำงานของกลุ่มเกษตรกรและให้รักษาคุณภาพที่ดีไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนต่อไป

 

……………………….

 

 วันนี้ (6 ก.พ.61) เวลา 07.54 น. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี บรรยากาศก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2561 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สักการะพระบรมราชินยานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าร้าไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เพื่อความเป็นสิริมงคล
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้พบปะทักทายนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี  ณ บริเวณโถงชั้น 1 อาคารคณะวิทยาการจัดการ โดยได้กล่าวว่า นักศึกษาทุกคนคือรากฐานที่สำคัญของประเทศในการที่จะร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนประเทศชาติไปสู่อนาคต โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ช่วยกันลดความขัดแย้ง อันจะทำให้สามารถเดินหน้าประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนด พร้อมแนะนำให้นักศึกษาทุกคนศึกษาเรียนรู้ในสาขาที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศและตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อจบออกมาแล้วจะได้มีอาชีพและงานทำที่มั่นคง สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ รวมทั้งเน้นย้ำกับนักศึกษาคณะครุศาสตร์ที่มาให้การต้อนรับว่า “ครู” วันนี้ต้องมีการเรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียนและต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สอดคล้องและทันกับเทคโนโลยีและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการผลงานเด่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี  เช่น โครงการฟื้นฟูปะการังและสร้างแหล่งเรียนรู้ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งได้ใช้หลักวิชาการมาพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรแนวปะการัง รวมทั้ง การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ชุมชนเกิดเป็นห้องเรียนธรรมชาติของชุมชน ตระหนักถึงคุณค่าและการอนุรักษ์ปะการังและสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่ เพื่อความร่วมมือที่จะใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
โครงการยกระดับมาตรฐานนการแปรรูปอาหารภาคตะวันออก โดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้เข้าไปดูแลกลุ่มผู้แปรรูปอาหารในภาคตะวันออกให้สามารถผลิตและแปรรูปอาหารได้ถูกต้อง ตามกฎหมายและเกิดความปลอดภัยตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน
โครงการเพิ่มมูลค่าพลอยตกเกรดด้วยกระบวนการทางด้านการออกแบบสําหรับเครื่องประดับ  ซึ่งเป็นการนําพลอยตกเกรดมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องประดับที่ตอบสนองความต้องการของตลาด และเพิ่มมูลค่าได้ก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจสําหรับ ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อย หรือวิสาหกิจชุมชนด้านอัญมณีและเครื่องประดับ และเป็นแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบประเภทอื่นๆ ต่อไป
โครงการส่งเสริมการใช้ภาษาเขมร โดยสํานักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน ได้จัดโครงการส่งเสริมการใช้ภาษาเขมร ซึ่งเป็นภาษาประจําชาติของประเทศกัมพูชา และเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพื้นที่ชายแดนติดต่อกับจังหวัดจันทบุรี มีการแลกเปลี่ยนทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มีการใช้แรงงานจากชาวกัมพูชาเป็นจํานวนมากและมีความเกี่ยวข้องในด้านต่าง ๆ  ทั้งภาครัฐ และเอกชน การสื่อสารภาษาเขมรจึงเป็นสิ่งจําเป็นที่ทุกหน่วยงานทุกภาคส่วนต่างให้ความสําคัญ อีกทั้งชุมชนในจังหวัดจันทบุรีหลายภาคส่วนมีความต้องการที่จะเรียนรู้ภาษาเขมรเพื่อการใช้ประโยชน์ ในการทำธุรกิจและการประกอบอาชีพอื่น ๆ เป็นต้น
ศูนย์ผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น แห่งเดียวในภาคตะวันออก โดยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จัดโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่นประจำปี การศึกษา 2561 ตามระบบ Thai University Central Admission System (TCAS) เพื่อเข้าร่วมเป็นสถาบันผลิตครู ของโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ของสถาบันผลิตครู ปีการศึกษา 2561
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า ผลงานวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ ต้องผลักดันเผยแพร่ให้สังคมภายนอกได้รับรู้อย่างกว้างขวางเพื่อเป็นการพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและตลาดต่อไป

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
………………………………….

วันนี้ (6 ก.พ.61) เวลา 14.30 น. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2561  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี  และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ดูแลอำนวยความสะดวกสำหรับสถานที่จัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ในครั้งนี้ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่พบปะกับประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อวานนี้ ทำให้มีความสุขเนื่องจากได้รับทราบว่าประชาชนในพื้นที่มีความพร้อมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไปข้างหน้าพร้อมกับรัฐบาล ซึ่งถือเป็นกำลังใจในการทำงานของรัฐบาลและทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง สิ่งสำคัญคือภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ซึ่งใน 8 จังหวัดของภาคตะวันออกนั้น มี 3 จังหวัดเป็นพื้นที่ EEC ซึ่งต้องหาวิธีการและแนวทางในการที่จะเชื่อมโยงพื้นที่ EEC ดังกล่าวกับ 5 จังหวัดที่เหลือในพื้นที่ตะวันออกให้ได้ โดยการสร้างโครงข่ายคมนาคม การขนส่งหรือการเดินทางเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบทั้งทางรถไฟ น้ำ และทางบก ซึ่งเมื่อวานได้มีการประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและรัฐบาลพร้อมรับไปพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า สิ่งสำคัญคือจะทำอย่างไร ที่จะให้พื้นที่ EEC เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ โดยการนำรายได้จากการเก็บภาษีมาพัฒนาประเทศรองรับการเติบโตของประเทศในอนาคต 50 ปีข้างหน้า ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ก็จะทำให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันต้องมุ่งพัฒนารายได้ของประชาชนในพื้นที่ควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ซึ่งถือเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด รวมถึงการดูแลอำนวยความสะดวกของผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการมีมาตรการดูแลประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันจะมีการดูแลผ่านการจัดสรรงบประมาณลงไปในพื้นที่ตามงานและภารกิจประจำ (function) ของแต่ละกระทรวง และงบประมาณบูรณาการที่แต่ละกระทรวงต้องทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงงบประมาณทั้ง 6 ภาค ซึ่งครอบคลุมไปถึงกลุ่มจังหวัด ตลอดจนการดำเนินการงบประมาณรายจ่ายกลางปี ซึ่งดำเนินการการบริหารจัดการงบประมาณดังกล่าวของรัฐบาลก็เพื่อให้งบประมาณลงไปในพื้นที่โดยตรงเกิดผลสัมฤทธิ์ในภาพรวมที่เป็นการเพิ่มมูลค่าในพื้นได้อย่างแท้จริง

ขณะที่จังหวัดตราดมีศักยภาพในด้านของการท่องเที่ยวและการให้ความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าชายเลน ชายทะเล และการท่องเที่ยว เช่น ที่เกาะช้าง ซึ่งมีหลายโครงการที่พื้นที่ได้เสนอขอรับการสนับสนุนขึ้นมา ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารู้สึกยินดีที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวเป็นจำนวนมากและต่างรู้สึกประทับใจมีความสุขที่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนสมควรภาคภูมิใจ เพราะฉะนั้นทุกคนจะต้องทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพที่ดีในการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย สิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชนและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต้องช่วยกันดูแลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งดูแลรักษาความสะอาดทุกพื้นที่ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม โดยเฉพาะห้องสุขาต่าง ๆ ต้องดูแลให้สะอาดอยู่เสมอซึ่งจะเป็นการดูแลในเรื่องสาธารณสุข

พร้อมเสนอแนะเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวป่าชายเลน ว่า ควรพิจารณาให้มีการจัดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ระหว่างการนั่งเรือเที่ยวชมป่าชายเลนพร้อมกันด้วย เพื่อให้การท่องเที่ยวน่าสนใจกระตุ้นและดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงกิจกรรมผ่านวิถีชุมชนและการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่   โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ชุมชนในพื้นที่จะได้รับเป็นสำคัญ

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

 

 

 

matemnews.com  6 กุมภาพันธ์ 2561