ศาลอออกนั่งบัลลังก์ ที่ห้องพิจารณา 713 ศาลอาญาถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 24 ก.ค.2560 อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีพันธมิตรฯ บุกทำเนียบรัฐบาลเมื่อปี 2551 คดีหมายเลขดำ อ.4925/55 พนักงานอัยการคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ฟ้อง 6 แกนนำพันธมิตร
1.พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
- นายสนธิ ลิ้มทองกุล
3.นายพิภพ ธงไชย
4.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
5.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข
6.นายสุริยะใส กตะศิลา
เป็นจำเลยที่ 1-5 ฐานร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการ ทำให้เสียทรัพย์ กรณีเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2551 จำเลยทั้ง 6 เป็นแกนนำพันธมิตรฯ กับพวกได้ปราศรัยชักชวนให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมเพื่อกดดันให้ “นายสมัคร สุนทรเวช” นายกรัฐมนตรี ลาออก แล้วเข้าปิดล้อมควบคุมทำเนียบรัฐบาล ห้ามข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ เข้าปฏิบัติงาน ทำลายทรัพย์สินของราชการได้รับความเสียหาย พวกจำเลยให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พวกจำเลยกระทำผิดตามฟ้องจีง พิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี คำเบิกความจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาบ้าง ลดโทษให้1ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จำเลยยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบา และรอการลงโทษด้วย ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผอ.ฝ่ายสถานที่ สำนักนายกรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล เข้าเบิกความถึงรายละเอียดและเหตุการณ์ที่กิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งการกระทำของจำเลยทั้งหก ซึ่งเป็นแกนนำพันธมิตรฯ และกลุ่มผู้ชุมนุม ที่บุกเข้าไปภายในทำเนียบรัฐบาล โดยนำรถบรรทุก 6 ล้อตั้งเป็นเวทีปราศรัย หน้าบริเวณสนามหญ้าทำเนียบรัฐบาล ตัดโซ่คล้องประตู รวมทั้งผลักดันแผงเหล็กกั้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดไว้ เพื่อรักษาความปลอดภัย ส่งผลทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบรดน้ำ หญ้าในสนามตาย ระบบไฟฟ้าได้รับความเสียหาย ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของพวกจำเลยนั้น มีความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานบุกรุกฯนั้นชอบแล้ว ส่วนที่พวกจำเลยขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ โดยอ้างว่า พวกจำเลยเป็นผู้มีการศึกษา มีสถานะทางสังคม และได้ทำงานเพื่อสังคม ทั้งไม่เคยต้องโทษในคดีอาญามาก่อน ซึ่งกับการชุมนุมนั้นก็เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันบุกรุกทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ การที่จำเลยจะใช้สิทธิเสรีภาพนั้นก็จะต้องไม่กระทบต่ออำนาจหน้าที่ผู้อื่น แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของพวกจำเลยมิได้เพื่อเป็นประโยชน์แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตนเอง จึงเห็นควรพิพากษาลงโทษให้เหมาะสมกับพฤติการณ์ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาแก้ โทษจากเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี เหลือโทษจำคุกคนละ 1 ปี โดยลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยทั้งหกไว้คนละ 8 เดือน และเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง โทษจำคุกจึงไม่รอลงอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ได้มาศาลเนื่องจากจำขังอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว
Matemnews.com 24 กรกฎาคม 2560