จากกระแสละคร “บุพเพสันนิวาส” ที่กำลังออกอากาศอยู่ ณ เพลานี้ ทำให้นึกถึงการเรื่องของเวลา ที่เรียกกันมาแต่เมื่อครั้งอดีตจนเป็นคำเรียนเวลาในปัจจุบัน เราเลยขอพาย้อนภาพย้อนเวลาไปสู่การเรียกขานเวลาในประเทศไทยของเรา
การเรียกขานเวลาโดยทั่วไปแล้ว มีชื่อที่เรียกแตกต่างกันไปตามความเคยชิน บวก กับอิทธิพลจากภาษาบาลีที่เข้ามามีบทบาท เดิมคนสมัยโบราณใช้คำว่า “ยาม” มาจากภาษาบาลี ที่ว่า “ยา – มะ” เป็นการนับเวลาตอนกลางคืน 12 ชั่วยาม แบ่งออกได้เป็น 4 ยาม ยามละ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ ช่วงเวลา 18.00 – 21.00 น.เรียกว่ายาม1 21.00 – 24.00 น.เรียกว่ายามสอง 24.00 – 03.00 น.เรียกว่ายามสาม และ 03.00 – 06.00 น. เป็นยามสุดท้ายเรียกว่ายามสี่
การเอ่ยขานบอกเวลาของไทยปัจจุบันมีแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ แบบแรกจะเป็นหน่วยนาฬิกา เริ่มตั้งแต่ 0 นาฬิกาไปจนถึง 24 นาฬิกายึดตามสากล และแบบที่เรียกติดปากกัน อย่าง “โมง ทุ่ม ตี” เหตุใดจึงเรียกเช่นนี้
สมัยอดีตไม่มีเครื่องบอกเวลา มีเพียงวัดเป็นสถานที่สำคัญศูนย์รวมของชาวบ้าน และวัดจะคอยส่งสัญญาณแจ้งเวลาให้เข้าใจตรงกัน เมื่อตะวันคล้อยตกดิน ได้เวลา ย่ำกลอง ย่ำฆ้อง ย่ำระฆัง ของพระเป็นการบอกชาวบ้านว่าสิ้นสุดของวันแล้ว เรียกว่า “ย่ำค่ำ” จากนั้นเวลากลางคืนจะใช้กลองเป็นเสียงส่งสัญญาณเสียงดัง “ตุ้ม” หรือ “ทุ่ม” จึงเรียกตามเสียงนั้น
หลังเวลาเที่ยงคืนไปแล้วจะเปลี่ยนมาใช้แผ่นโลหะเพื่อตีแทน อาจจะเสียงเบากว่าและไม่รบกวนการนอนของคนอื่นๆ ถึงอย่างนั้นก็เป็นการบอกเวลาสำหรับผู้ที่ยังไม่นอน เปลี่ยนเวรยาม หรือปลุกคนให้ตื่นอีกด้วย การเรียกเวลาช่วงนี้ว่า “ตี” เรียกตามลักษณะกิริยาแทนที่จะเรียกตามเสียงที่เกิดขึ้น เพราะเสียงตีโลหะไม่ชัดพอที่จะถอดออกมาเป็นคำได้
ครั้งถึงเวลา 6 นาฬิกาจะตีแผ่นโลหะหลายๆ ครั้ง เรียกว่า “ย่ำรุ่ง” เพื่อให้คู่กับ “ย่ำค่ำ” แต่ปัจุบันคนนิยมเรียก 6 โมงเช้า ชั่วโมงแรกของวันตามการเรียกของคนไทยสมัยก่อนเริ่มจาก 7 นาฬิกา นับจากการขึ้นของพระอาทิตย์ประมาณ 6 นาฬิกา ไม่เหมือนกับชาวฝรั่งที่ยึดว่า 1 นาฬิกาคือการเปลี่ยนวันใหม่ เมื่อถึงเวลาเช้าทางการก็จะตีฆ้อง 1 ครั้ง กลายเป็น 1 โหม่ง หรือ 1 โมงเช้า เมื่อถึง 8 นาฬิกาจะตี 2 ที เรียกเป็น 2 โมงเช้า เรื่อยไปจนถึงเวลา 11 นาฬิกา เรียกว่า “เวลาเพล” ตามที่พระฉันเพล
สังเกตุภาพจิตรกรรมฝาหนังในอุโบสถวัดเขียน จังหวัดอ่างทอง วัดเก่าสมัยอยุธยาอายุกว่าร้อยๆ ปี มีเจ้าหน้าที่ 3 ท่าน นั่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในศาลา ท่านหนึ่งยืนชี้นิ้วเหมือนบอกอะไรบางอย่าง ท่านหนึ่งนั่งจด อีกท่านหนึ่งตีฆ้องโหม่ง โดยที่ด้านข้างมีการตั้งตุ่มน้ำและกะลาเจาะก้นลอยน้ำเอาไว้ เมื่อน้ำท่วมกะลาจนตกถึงใต้ตุ่มจะตีส่งสัญญาณ
ขอบคุณภาพจาก Kimleng เว็บบอร์ด www.sookjai.com
เป็นรอบๆ ไป ส่วน 12 นาฬิกาจะเรียกว่า “เที่ยงวัน” โดยตอนเที่ยงนั้นจะมีการยิงปืนเป็นการบอก เริ่มครั้งแรกสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์มีประสงค์ให้พ่อค้าวาณิช และประชาชนทั้งหลายที่มาติดต่อค้าขายทราบเวลาตรงกัน และจะได้ตั้งเวลาของตัวเอง จนเป็นสำนวนว่า “ไกลปืนเทียง” เสียงปืนจะได้ยินเฉพาะพื้นที่ในเขตพระนครเท่านั้น ใครอยู่ไกลออกไปก็จะไม่ได้ยินเสียงสัญญาณที่บอกเวลานั่นเอง
และชั่วโมงแรกถัดจากเวลาเที่ยงวัน จะกลับมาตีฆ้อง 1 ครั้ง ตอนเวลา 13 นาฬิกา เรียกว่า 1 โมงบ่าย หรือ บ่าย 1 โมง บ้างก็เรียกรวมๆ ว่า “เพลาชาย” เวลา 14 นาฬิกา ก็จะตีฆ้อง 2 ครั้ง เป็นบ่าย 2 โมง เรื่อยไปจนเวลามาจวนจบที่ 16 และ 17 นาฬิกา อาจจะเรียกว่า บ่าย 4 โมง บ่าย 5 โมง หรือจะเรียก 4 โมงเย็น 5 โมงเย็น ก็ได้ แต่อย่างหลังจะได้รับความนิยมเรียกกันในปัจจุบันมากกว่า ส่วนเวลา 18 นาฬิกา จะเรียกว่า 6 โมงเย็น แต่อดีตนิยมเรียกว่า “ย่ำค่ำ” พระจะตีกลองรัวเวลาคาบเกี่ยวกลางวันกับกลางคืน
ทุกๆ คำมีความหมายและมีที่มา ทุกๆ ภาพสามารถบอกเล่าเรื่องราวของมันได้ไม่รู้จบ เรื่องราวของการเรียกขานกาลเวลาไทยจึงมีที่มาฉะนี้แล… ติดตามอ่านบทความได้ใน Photo story บนนิตยสาร หนุมาน