การพูดในรายการศาสตร์พระราชาฯ ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เผยแพร่เมื่อคืน 27 เมษายน 2561 ได้พูดถึงการดูดส.ส. และแมว โดยกล่าวคำว่า “ไม่ว่าแมวขาว หรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ คือแมวที่ดี” ทำให้ นายวรชัย เหมะ คนพรรคเพื่อไทยแถลงข่าวตอบโต้
คำกล่าวของพลเอกประยุทธ์
“ที่สำคัญคือการปฏิรูปนั้นเป็นกิจกรรมที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ทำอยู่ตลอดเวลา และมีมากมายที่เราทำไปแล้ว และกำลังทำอยู่ เราต้องทำ “คู่ขนาน” กัน พร้อมกันในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ในส่วนยั่งยืนนั้น เราก็ต้องทำต่อเนื่อง ตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่เราวางไว้ 20 ปี เพื่อให้การปฏิรูปมีความต่อเนื่อง เกิดความยั่งยืน แต่ระหว่างนั้นเราสามารถปรับเปลี่ยนได้ อย่าไปฟังใครว่าปรับไม่ได้ ไปล็อคอนาคต ต้องการจะสืบทอดอำนาจ ไม่ใช่เลย สืบทอดสิ่งที่เราทำนี่ ทำต่อไปให้ได้หลายอย่าง ที่ผ่านมานั้น ทำแล้วก็เลิก ทำแล้วก็ไม่ทำต่อ ไม่ทราบว่าใช้หลักการอะไรมาทำ ก็เลยเป็นอย่างนี้ แล้วพอถึงเวลาที่จะทำใหม่ ก็ช้าเสียเวลา ถ้าเราทำไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ก็จะสอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคตไปด้วย ในเรื่องของการลดความเสี่ยง ที่เราจะแก้ไขได้ เปลี่ยนแปลงได้
มีทั้ง“แผนปฏิบัติการ” ที่จะต้องมีความยืดหยุ่น แต่ต้องมี “แผนแม่บท” หลักว่าเราจะต้องทำอะไรบ้างยังไง ทั้งตามความต้องการของแม่บทหลัก และของประชาชน ในแต่ละพื้นที่ ซึ่งไม่เหมือนกัน เราจะทำแผนแม่บทนี้อย่างไร แล้วก็เดินตามแผนแม่บทเหล่านี้ เพราะเป็นความต้องการของประชาชนที่แท้จริง เพื่อจะไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทั้งประเทศชาติและประชาชนทุกภาคต้องเจริญเติบโตไปพร้อม ๆ กันตามสภาพที่มีอยู่ประชาชนมีความสุข
เรื่องนี้เราต้องขอความร่วมมือจากทั้ง “ฝ่ายรัฐบาล” และ “ฝ่ายค้าน” ในอนาคตไว้ด้วย ก็อยากให้ดูอย่างต่างประเทศอื่น ๆ ที่เขาสำเร็จไปแล้ว ที่เขาเจริญไปแล้วมาก ๆ อะไรที่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมืองและประชาชน เขาก็จะร่วมมือกัน ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ทำให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนบรรลุผลสำเร็จ ไม่ใช่อะไรที่ฝ่ายรัฐบาลคิด ฝ่ายค้านก็จะต้องค้านทุกเรื่องเพราะเกรงว่าตนจะเสียคะแนนความนิยมอะไรทำนองนี้ คือต่างฝ่ายต่างถือคะแนนนิยมเป็นหลัก บ้านเมืองก็ไปไม่ได้เพราะไป ๆ หยุด ๆ เดิน ๆ แล้วถอยหลังทำนองนี้ พอเปลี่ยนรัฐบาลก็เริ่มต้นใหม่อีก สรุปว่าไม่เสร็จทั้งเก่าทั้งใหม่ วันนี้เราก็ควรต้องวางไว้เป็นระยะ ๆ สุดแล้วแต่ท่านจะทำได้อย่างไร เราจะต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้นอีกในการเมือง หรือรัฐบาลต่อ ๆ ไปด้วย
หากเราพิจารณาให้ถ่องแท้แล้ว จะเห็นได้สิ่งที่ผมพูดมาไม่ใช่เป็นเพียงแต่ผมอยากจะพูด เป็น “ลมปาก” ของผม แค่ผมพูดแล้วผมก็ทำด้วย คิดแล้วก็ทำ คิด พูด ทำ อะไร “ทำได้ ทำทันที” อันไหนที่ใช้เวลา ผมก็อยากจะพูดให้ทุกคนเข้าใจว่า ต้องอดทนรอผล หลายคนก็ไม่เข้าใจ กลายเป็นว่าทำให้เศรษฐกิจแย่ลง หรือไม่มีงานทำ หรือไปรังแกคนจนทำนองนี้ บางทีก็พูดเพื่อหวังผลทางการเมือง วันหน้าเขาก็ต้องการจะเข้ามาทำแบบเดิมหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ หลายอย่างที่ผมทำวันนี้ก็จะเกิดผลในรัฐบาลหน้า ก็เป็นรัฐบาลเลือกตั้งของท่าน เป็นของนักการเมืองอยู่แล้ว ที่จะเข้ามาอย่างถูกต้อง รัฐบาลต่อ ๆ ไปถ้าเราเข้าใจกัน แล้วสานต่อไปก็จะดีขึ้นดีกว่าเดิม
ยิ่งกว่าคือการทำทุกคนอาจจะไม่ได้สนใจตรงนี้ว่า ยากง่ายเพียงใด “การทำยากกว่าการคิด” หลายท่านก็คิดกับพูด แต่ไม่เคยทำงาน ก็มีแต่หลักการ อีกพวกก็อาจจะไม่เก่ง ไม่ใช่นักวิชาการ แต่ทำงานเป็น และทำสำเร็จ ทำไมเราไม่เอาคน 2 กลุ่มมาทำงานกันให้ได้ คนหนึ่งคิด วางแผน พูด และอีกคน ปฏิบัติเป็น ก็นำไปสู่การปฏิบัติ ถ้าร่วมมือกันอย่างนี้มันก็ไปกันได้ ถ้าต่างฝ่ายต่างว่ากันไป ว่ากันมา โทษกันก็มีปัญหาหมด ติคนง่าย แต่ทำยาก ผมไม่อยากให้เป็นปัญหาของการทำงาน แต่ปัญหาของเราวันนี้ที่เราเจอมา ผมจำเป็นต้องพูด อาจจะเกิดจากความเคยชิน กับความไร้ระเบียบ การไม่ต้องเคารพกฎหมาย มีการปล่อยปละ ละเลย สะสมมานาน ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลนี้อีกเช่นกัน ที่ต้องแก้ไขในสิ่งดังกล่าวให้ได้ แล้วเราจะทำให้ดีที่สุด หลายอย่างทำไปแล้วก็รักษาไม่ได้ เพราะประชาชนก็ลืมอีก ลืมง่าย แล้วก็กลับมาทำแบบเก่า ทำแบบเดิมอีก แล้วจะให้ผมทำยังไง เพราะฉะนั้นปัญหาที่ “ทับซ้อน” คือการสร้างความเข้าใจ ในบรรยากาศของความพยายามบิดเบือน “ชักใบให้เรือเสียบ้าง… มือไม่พาย เอาเท้าราน้ำบ้าง” บางคนยอมเป็น “เด็กเลี้ยงแกะ” พูดจาไร้เหตุผล ปราศจากหลักฐาน
เรื่องที่มีการกล่าวว่ามีการใช้งบประมาณ ทุจริต ใช้วงเงินเป็นหมื่นล้านบาท ผมไม่ทราบเอามาจากไหนเหมือนกัน และเอามาได้อย่างไร ถ้าท่านรู้ท่านต้องบอกมาผมด้วย หรือท่านเคยทำผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง ก็ขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ต้องอาศัยเวลาและใช้ความพยายามที่มากขึ้น อีกประการที่เราต้องเข้าใจ คือ แทบทุกการปฏิรูป เราต้องอาศัยการออกกฎหมายใหม่ ยกเลิกกฎหมายเก่าที่ไม่ทันสมัย ก็ต้องใช้เวลาปรับปรุงให้เป็นสากล เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้เกิดการปฏิรูป มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้ ก็ขอให้พี่น้องประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในช่องทางที่เหมาะสมด้วย กฎหมายไม่มีใครชอบ มันต้องมีคนได้และคนเสีย จะทำอย่างไรให้คนได้และคนเสียเกิดความเป็นธรรม วันหน้าจะได้ไปด้วยกัน
ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ ใช่อย่างที่มีนักการเมือง พรรคการเมือง นักวิชาการ “บางคน” ออกมาพูดรึเปล่าผมไม่แน่ใจ พูดในเชิงขัดแย้ง กดดัน รัฐบาลและ คสช. พูดดักหน้า ดักหลังตลอดเวลา ตลอดระยะเวลา 4 ปีของผม ผมไม่อยากให้คนไทยทุกคน มองแต่ผลประโยชน์ที่รวดเร็วเช่นเดิม ได้มากเหมือนเดิมแต่ไม่ยั่งยืน ไม่ทั่วถึง ไม่เป็นธรรม ก็เหมือนอาจจะเป็นการกระทำที่เรียกว่า “ขุดบ่อล่อปลา” แล้วก็ให้ปลาทุกตัวว่ายมารวมกัน เสร็จแล้วก็ถูกวิดน้ำให้แห้ง เพราะมีการดูดซึม น้ำรั่วออกมาด้วยการทุจริตคอรัปชั่น ปลาในนั้นก็จะกลายเป็นเหยื่อ วันนี้ผมอยากจะบอกว่าประชาชนอย่ากลายเป็นปลาหรือเป็นเหยื่อ เพราะเราไปคาดหวัง ในแหล่งน้ำที่เขาวางแผนไว้ง่าย ๆ ล่อเข้าไป แทนที่จะรับประโยชน์ก็กลายเป็นเหยื่อไปซะเอง
สุดท้ายนี้
ผมอยากจะฝากให้ “ติดตาม” ว่าเหตุใดที่รายได้ประชาชนยังไม่ดีพอ ที่จะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง อันนี้ก็มีผลมาจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน เราต้องไปดูว่าเชื่อมโยงกับ “ต้นตอ” กับปัญหาอย่างไร ความเป็นประชาธิปไตยของบ้านเรามีส่วนหรือไม่ เราทุกคนนั้นถ้าเราหวังให้ทุกอย่างดีขึ้น เราต้องให้ความสำคัญกับการเลือกตั้ง และเราทุกคนก็ควรต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย เพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิ์ ขายเสียง หรืออาจจะไม่ต้องซื้อ เพราะเป็นเสียงที่ติดกับตัวบุคคลไปนานแล้ว แต่มีการอาจจะหาเสียง ให้ประโยชน์ล่วงหน้า ว่าจะสร้างหรือทำอะไรให้ ซึ่งทำไม่ได้ ในรัฐบาลต่อ ๆ ไป จะต้องทำในสิ่งที่อยู่ในแผน แต่ต้องทั่วถึงทุกพื้นที่
เรารู้อยู่แล้วว่าประชาชนต้องการอะไร เพราะข้าราชการก็มีข้อมูล การฟังเสียงประชาชนก็เป็นข้อมูลเสริมเข้ามา แล้วมาพิจารณาว่าเราจะทำอะไรกันต่อไป ไม่จำเป็นต้องให้ประชาชนมาร้องเรียนด้วยซ้ำไป เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ของข้าราชการ ต้องทำเพราะฉะนั้นเราต้องเลือกคนดีมีคุณธรรม เลือกพรรค เลือกคนด้วยนโยบายที่ชัดเจน
ใช้เหตุผลในการเลือก ไม่ใช่เลือกใครก็ได้มาเป็นรัฐบาล ด้วยความคุ้นเคย ด้วยความไม่รู้จักคนอื่น หรือด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่สนใจเบื้องหน้าเบื้องหลัง ทั้งนี้ อาจจะเพียงเพื่อตอบสนอง “ความคาดหวัง” ว่าจะมีรายได้ที่ดีขึ้น ด้วยการกระทำแบบเดิม ๆ ที่เคยทำได้เหมือนที่ผ่านมา รายได้ดีขึ้นเพราะไม่ต้องระมัดระวังอะไร เช่น จากการปล่อยปละละเลยของการให้มีการกระทำความผิดกฎหมาย มีการทุจริต สังคมขาดความมีระเบียบวินัย เศรษฐกิจบกพร่องนะครับ งบประมาณมีปัญหา ไร้ซึ่งระเบียบวินัยการเงินการคลังนะครับโดยไม่มีการวางรากฐานการพัฒนาประเทศ หรือมีการดำเนินการอย่างไม่มียุทธศาสตร์ ไม่มีความร่วมมือระหว่างกัน ไม่มีแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ที่เรียกว่าทำเป็นขั้นเป็นตอน 1-2-3 ไม่เคยพูดถึงการปฏิรูปในสิ่งที่จำเป็น ว่าจะทำอะไรก่อน อะไรหลัง ทุกคนต้องการหมดแต่ทำไม่เป็น จะเอาโน่นเอานี่กันทุกคน แล้วทำได้หรือไม่ รัฐบาลพยายามเลือกง่ายทำก่อน ยากน้อยหน่อยก็ระดับสอง ยากมาก ๆ ระดับสาม เพราะการปฏิรูปต้องทำ 2 ลักษณะด้วยกัน อันแรกคือ แต่ละหน่วยงานทำเอง อาจจะเป็นเรื่องงานตามฟังก์ชั่นของตัวเอง เขาต้องปฏิรูปของตัวเองจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น อันที่สองคือการปฏิรูปในลักษณะที่เป็นการบูรณาการ หลายหน่วยงานจะต้องมาทำงานด้วยกัน มาทำแผนแม่บท มาทำแผนปฏิบัติการด้วยกัน ใช้งบประมาณด้วยกัน เช่นการบริหารจัดการน้ำ ทำนองนี้ หรือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอะไรอื่น ๆ ที่หลายกระทรวงต้องมาทำร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ก็เกิดขึ้นไม่ได้ บูรณาการอย่างที่ว่า ที่ผ่านมาทั้งหมด ทุกอย่างจะกลับมาที่เดิม
กรณีมีข่าวเรื่อง “การดูด ส.ส.” พรรคต่าง ๆ ผมไม่ใช่นักการเมือง ผมทำงานทางการเมืองให้ตอนนี้ แต่ทุกคนทราบดีว่า การดูดมีเป็นมายาวนานแล้ว ไม่ใช่มาบอกแต่ คสช. ดูด ผมก็ยังอยู่ตรงนี้ ผมก็เป็นรัฐบาล ผมก็อยู่ตรงกลางตรงนี้ ที่ต้องอำนวยการให้เกิดการเลือกตั้งให้ได้ เป็นหน้าที่ของผมในขณะนี้ ฉะนั้นการดูดกันก็มีทุกพรรคการเมืองมายาวนานแล้ว เป็นครรลองของประชาธิปไตยของไทยตลอดมา หลายคนอาจจะอ้างว่าทำด้วยอุดมการณ์ ด้วยนโยบาย “เพื่อชาติและประชาชน” คำว่า “ดูด ส.ส.” คงเป็นภาษาของสื่อฯ เป็นการตลาดนะครับ ผมคิดว่าพี่น้องประชาชนควรใช้วิจารณญาณได้เองว่าอะไรคือการทำเพื่อส่วนรวม อะไรที่เป็นการทำเพื่อพวกพ้อง หากมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญเช่นเดียวกันแล้ว ก็น่าจะช่วยกันทำงานได้นะครับ เราไม่อาจมองข้ามกันได้ เราจะต้องทำให้นักการเมืองทุกคนที่เข้าสู่ระบบเลือกตั้ง ครั้งหน้าให้เป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีธรรมาภิบาล ไม่ว่าจะนักการเมืองเก่า นักการเมืองใหม่ หรือคนที่เคยทำผิดกฎหมาย มีคดี ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม หรือเป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง แตกแยกของคนในชาติ คนเหล่านี้ใครควรจะได้รับการเลือกตั้งหรือใครไม่ควรจะได้รับการเลือกตั้ง ก็เป็นเรื่องของประชาชนพิจารณา ผมไปชี้นำไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อที่จะนำพาประเทศของเราไปสู่ทางออกของปัญหาตามแนวทางสันติวิธี ไม่อยากให้ขัดแย้งกันอีก เพราะต้องแก้ไขด้วยกัน รัฐบาลหรือ คสช. จะไปสั่งให้เลิกทะเลาะกัน ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะอยู่ที่ใจของแต่ละคน เพราะฉะนั้นเราน่าที่จะปฏิรูปการเมืองทีละขั้นหรือไม่ วันนี้เราไปตั้งหลักกันที่การเลือกตั้งก่อน เพราะฉะนั้น วันนี้ผมก็สร้างสภาวะแวดล้อมเตรียมการทั้งหมดให้พร้อมที่จะไปสู่การเลือกตั้ง รักษาความสงบ เรียบร้อย ก็อย่าให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นมาระหว่างการเลือกตั้งอีกเลย
ถ้าเราเอาการเลือกตั้งมาเป็น “ตัวตั้ง” เราจะต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ได้นักการเมืองที่มีคุณภาพ ปัจจุบัน จากความเคลื่อนไหวของนักการเมือง ที่ผมติดตาม ศึกษาอยู่ พรรคการเมือง มีอยู่ 3 ทางด้วยกัน ทางที่ 1 คือการเคลื่อนไหวของนักการเมืองใหม่ทั้งหมด ทางที่ 2 นักการเมืองเดิม อาจจะที่มีคุณภาพ หลายพรรคต่าง ๆ ก็มาช่วยกัน ทางที่ 3 คือนักการเมืองจากทุกพรรค ทุกกลุ่มเดิม ๆ ที่ไม่ได้แยกย้ายพรรคอะไร พวกนี้ก็จะเข้ามาเลือกตั้งเหมือนเดิม วิธีการเดิม ๆ อาจจะไม่เปลี่ยนแปลง วิธีการทำงานหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ เพราะฉะนั้นหลายคนอย่างที่บอกไปแล้วว่า จำเป็นต้องสังกัดพรรคด้วยเหตุผล ความจำเป็น คือ เมื่อจะเข้ามาก็ต้องมีการสนับสนุนและอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในรัฐบาล แต่เพียงอย่างเดียว อันนี้คงไม่ดี วันนี้ต้องแก้ไขใหม่ ลองไปคิดดูสิว่าเราฝืนข้อเท็จจริงไม่ได้ เรามีนักการเมืองแบบไหนบ้างในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเก่า จะใหม่ จะดี ไม่ดี ก็มีอยู่เท่านี้ เราอาจจะต้องใช้วิธีผสมกันหรือไม่ 1 หรือ 2 เราต้องยอมรับความจริงตรงนี้ นักการเมืองใหม่เข้ามาน้อยมาก เราน่าจะอยากได้คณะรัฐมนตรีที่ควรมีนักการเมืองใหม่เข้ามาเติม มาเสริม แล้วมีนักการเมืองเก่าที่ดีๆ หวังดีกับประเทศชาติจริง ๆ เข้ามาทำงานด้วยความสมัครใจ ทำเพื่อชาติ เพื่อพี่น้องประชาชน มากกว่าทำเพื่อพรรคอย่างเดียว โดยเราทุกคน ประชาชนจะต้องศึกษานโยบาย ท่าที แนวโน้ม การให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองที่มีเจตนารมณ์ ยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปอย่างแท้จริง ที่ต้องอาศัยเวลาในการปฏิรูป ระยะสั้น กลาง ยาว ต่อไปเรื่อย ๆ ตามแผนแม่บท แผนปฏิบัติการ ซึ่งต้องคำนึงถึงการใช้จ่ายงบประมาณ และรายได้แผ่นดินด้วย ปัจจุบันนั้นเราก็ยังมีปัญหาอยู่พอสมควรในเรื่องการจัดหารายได้เพิ่มเติม ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข โครงสร้างพื้นฐาน สังคมผู้สูงวัย แรงงาน ซึ่งคงจะต้องทำเพิ่มเติม
เราอย่าไปหลงเชื่อว่าการเลือกตั้ง “อย่างเดียว” นั้นไม่ต้องคำนึงถึงบริบทต่าง ๆ ทำเหมือนเดิม เลือกเหมือนเดิม ไม่เลือกก็ได้ เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาในอดีตได้เลย เราไม่สามารถจะวางรากฐานการพัฒนาในอนาคตได้ ถ้าเราคิดแบบเดิม เราควรให้ความสำคัญในเรื่องนโยบายต่าง ๆ ของแต่ละพรรคด้วย เพื่อจะให้เกิดการสร้างความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ จะต้องส่งเสริมการเคารพกฎหมาย แก้ไขประเด็นความขัดแย้ง ไม่สร้างความวุ่นวายแตกแยกไม่อำนวยประโยชน์แก่คนบางกลุ่ม บางพวก เป็นการเฉพาะ หรือบางพื้นที่ เพราะว่าจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม ในวันข้างหน้าอีกด้วย
ลองพิจารณาคำกล่าวของผู้นำประเทศหนึ่ง ที่กล่าวว่า “ไม่ว่าแมวขาว หรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ คือแมวที่ดี” เนื่องจากในการแก้ปัญหาเดียวกัน แต่ต่างพื้นที่ ต่างสภาพแวดล้อม วิธีการย่อมแต่ต่างกัน ในรายละเอียด “ไม่มีสูตรตายตัว” เพียงแต่ว่า สำหรับเราเองนั้นเราจะต้องทำให้ทั้งแมวขาว แมวดำ ของเรา ไม่ทะเลาะกันเอง ไม่กัดกันเอง แล้วเป็น “แมวสะอาด” ไม่มีเชื้อโรค ไม่อย่างนั้นก็ไปปราบหนูไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้บ้านเมืองเราสะอาด ต้องใช้แมวที่สะอาด ฝากช่วยกันคิดดู ขอบคุณครับ ขอให้ “ทุกคน” มีความสุข ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
ต่อมาเช้าวันที่ 28 เมษายน 2561 นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย แถลงแก่ผู้สื่อข่าว ว่า ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นแมวแบบไหน ก็ควรต้องดูตัวเองก่อนว่า มาอย่างไร เพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นแมวที่ประชาชนเลือกมาให้จับหนู ไม่ได้เป็นแมวสกปรกหรือมีโรค แต่เป็นแมวที่สะอาดจับหนูได้ แต่แมวที่ทำหน้าที่อยู่ตอนนี้เป็นแมวที่มาจากไหนก็ไม่รู้ ประชาชนไม่ได้เลือกมาเป็นแมวป่าแล้วมาทำหน้าที่จับหนูให้ประชาชน อีกทั้งยังเป็นแมวที่มีโรค มีการทุจริตคอร์รัปชั่นเจ้าของบ้านจะตรวจสอบก็ไม่ได้ จับหนูก็ไม่ได้เพราะวันนี้ประชาชนเดือดร้อนกันถ้วนหน้า หนำซ้ำพอเจ้าของบ้านเรียกร้องให้มีการเลือกแมวมาทำหน้าที่ก็ถูกกัดโดยการลิดรอนสิทธิ ดังนั้นก่อนที่พล.อ.ประยุทธ์ จะไปว่าแมวตัวไหนควรทำตัวเองให้เป็นแมวสะอาดปราศจากโรคก่อน แล้วค่อยไปว่านักการเมือง ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ บอกควรมีนักการเมืองหน้าใหม่ กับนักการเมืองเก่าๆดีๆนั้น นักการเมืองเก่าที่เป็นเจ้าพ่อที่ท่านเดินสายไปพบถือเป็นนักการเมืองดีใช่หรือไม่
ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดถึงการขุดบ่อล่อปลา โดยการใช้นโยบายไปเสนอให้ประชาชนนั้น วันนี้โครงการที่รัฐบาลทำอยู่เช่นโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่ต่างจากโครงการประชานิยมเป็นการขุดบ่อล่อปลา แต่ปลาไปอยู่ที่นายทุนและกลุ่มของท่านเอง ไม่เหมือนโครงการของนักการเมืองอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ประชาชนได้ปลาเป็นการดูแลสุขภาพที่เข้าถึง ประชาชนรู้ดีว่าบ่อปลาแบบไหนได้ประโยชน์มากกว่ากันตรงนี้จะสะท้อนออกมาเมื่อมีการเลือกตั้ง
matemnews.com 28 เมษายน 2561