Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ทหารอุบลฯไม่ได้กดดันนักศึกษาอาจารย์ 4 มหาวิทยาลัยห้ามต่อต้านพลเอกประยุทธ์ – แค่เชิญมาคุย

ทหารอุบลฯไม่ได้กดดันนักศึกษาอาจารย์ 4 มหาวิทยาลัยห้ามต่อต้านพลเอกประยุทธ์ – แค่เชิญมาคุย

620
0
SHARE

 

 

เฟชบุ้คชื่อบัญชี  ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน  เผยแพร่

17 กรกฎาคม 2015 ·

 

 

คสช.อุบลฯ ส่งหนังสือด่วนเชิญผู้บริหาร คณาจารย์ 4 มหาลัยใหญ่ กังวลนักศึกษาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เชื่อมโยงดาวดินและ 14 นศ. NDM

 

กองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 22 (มทบ.22) จ.อุบลราชธานี ส่งหนังสือด่วนเชิญผู้บริหาร คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยใหญ่ทั้ง 4 แห่งใน จ.อุบลราชธานี ได้แก่ มรภ.อุบลรชธานี, ม.อุบลราชธานี, ม.ราชธานี และม.การจัดการและเทคโนโลยีอีสเทิร์น เข้าร่วมพบปะ ทำความเข้าใจการดำเนินการของ คสช. โดยอ้างถึง คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ

 

11.20 น. พล.ต.นิรุทธ เกตุสิริ ผบ.มทบ.22 ประธานในการประชุมพูดคุยครั้งนี้ กล่าวว่า การคุยกันวันนี้เป็นการมาทำความเข้าใจและขอความกรุณาผู้บริหารและคณาจารย์ของแต่ละมหาวิทยาลัยช่วยดูแล ตรวจสอบนักศึกษาว่า มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านการบริหารงานของ คสช. หรือไม่ เช่น กลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่น และกลุ่มนักศึกษาในกรุงเทพฯ ซึ่งในกรณีนักศึกษาที่ถูกจับกุมทั้ง 14 คน นั้นมีนักศึกษาคนหนึ่งที่เป็นคน จ.อุบลราชธานี

 

สายข่าวทหาร กล่าวว่า เบื้องต้นได้ไปคุยกับญาติพี่น้องของนักศึกษาคนนั้นแล้ว พบว่านักศึกษาคนดังกล่าวไม่ได้อยู่ที่ จ.อุบลราชธานี กว่า 7-8 ปี เพราะไปเรียนที่ จ.ขอนแก่น นักศึกษาคนนี้ครอบครัวมีปัญหา พ่อแม่แยกทางกัน นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่โยงมา จ.อุบลราชธานี ในพื้นที่เราต้องรับผิดชอบ จึงเป็นที่มาของการประชุมพูดคุยครั้งนี้

 

พล.ต.นิรุทธ อ้างถึงสายข่าวของทหาร รายงานว่า ใน จ.อุบลราชธานี มีนักศึกษาทั้ง 4 มหาวิทยาลัย จัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมือง ใช้สื่อออนไลน์ในการรับรู้ข่าวสาร เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองและการสร้างสถานการณ์โดย เช่น การชูป้ายของนักศึกษา ม.อุบล ฯ หรือการชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาล คสช. แล้วถ่ายภาพ ตัดต่อรูป เพื่อทำให้เป็นข่าว สร้างสถานการณ์ให้เหมือนว่า จ.อุบลราชธานี มีความไม่สงบ

 

ผบ.มทบ. 22 กล่าวว่า สิ่งที่ไม่น่าเชื่อ คือ นักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลฯ ไม่น่าจะมีความคิดเห็นหรือพฤติกรรมที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาล อย่างกลุ่มดาวดินได้

 

พล.ต.นิรุทธ ย้ำอีกว่า อยากให้ทางผู้บริหารและคณาจารย์ของทั้ง 4 มหาวิทยาลัยช่วยสอดส่อง ป้องปราม นักศึกษาของท่านที่มีพฤติกรรมการแสดงออกที่ต่อต้านการทำงานของรัฐบาล โดยให้ทางมหาวิทยาลัยสามารถติดต่อหรือแจ้งข่าวการเคลื่อนไหวของนักศึกษาโดยตรงกับทางกองข่าวของ มทบ.22 ได้ตลอดเวลาย้ำว่าทาง มทบ.22 ไม่อยากใช้มาตรการจัดการหรือควบคุมการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอย่าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน จ.ขอนแก่นและกรุงเทพฯ แต่อยากพูดคุย ทำความเข้าใจกับน้อง ๆ นักศึกษาที่มีความคิดที่แตกต่าง ซึ่งความคิดแตกต่างแต่อยู่ในกรอบของกฎหมายก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้านอกกรอบของกฎหมายและสร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศ ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดต่อไป

 

ส่วนการรับเงินทุน งบประมาณสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษาจากภายนอกมหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่กล่าวว่า อยากให้ทางมหาวิทยาลัยจัดระบบให้ความสำคัญในการตรวจสอบและอนุมัติเงินทุนสนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษา โดยผ่านความเห็นชอบจากอธิการบดีและมีการกำกับดูแลจากอาจารย์ที่ปรึกษากิจกรรมอย่างใกล้ชิด ถ้าเงินทุนหรืองบประมาณสนับสนุนไม่ผ่านการเห็นชอบจากมหาวิทยาลัย อธิการบดี หรือคณบดี อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ก่อผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย และต่อพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ด้วย

 

ด้าน รศ.ดร.นงนิตย์ ธีระวัตนสุข อธิการบดี ม.อุบลราชธานี ชี้แจงว่า ในส่วนของ ม.อุบลราชธานี ยอมรับว่า มีการเคลื่อนไหวทางความคิดอยู่บ้างเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ทางมหาวิทยาลัยเผ้าระวังและสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ มหาวิทยาลัยเห็นความจำเป็นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประเทศ ต้องทำให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ หากในอนาคตตจะมีรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้ง ทางเราก็คิดว่าสังคมก็น่าจะต้องรอให้ทุกอย่างราบรื่น

 

“ทาง ม.อุบลราชธานี เองก็รู้ว่า นักวิชาการในมหาวิทยาลัยมีความคิดที่เป็นอิสระ อาจจะเห็นด้วยหรืออาจจะไม่เห็นด้วยในสถานการณ์ทุกวันนี้ ซึ่งเราก็ใช้วิธีการในการพูดคุย แต่ไม่สามารถห้ามความคิดหรือไปบอกเขาว่าการคิดแบบนี้ไม่ถูก แต่เราก็ย้ำว่าอย่าให้การแสดงความคิดเห็นเกินขอบเขตของกฎหมายและสร้างปัญหา”

 

หลังเสร็จสิ้นการประชุม

รศ.ดร.ไชยันตร์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ให้สัมภาษณ์กับศูนย์ทนายฯ ว่า การเชิญผมเข้าพบปะ พูดคุยกับทหารครั้งนี้ถือว่าดีกว่าครั้งก่อน ๆ แม้ว่าหนังสือเชิญตัวครั้งนี้จะถูกส่งให้ภายวันที่ 17 ก.ค. 2558 ซึ่งตนเพิ่งทราบตอน 9 โมงเช้าวันนี้ ครั้งนี้ถือว่าศิวิไลซ์ขึ้น แต่การประชุมครั้งนี้ก็ไม่ต่างไปจากครั้งก่อน ๆ ซึ่งตนได้ปรับทัศนคติไปแล้วหลายครั้งแล้ว

 

รศ.ดร.ไชยยันต์ ทิ้งท้ายว่า “เราอาจจะไม่สงสัยในเจตนาที่มีต่อประเทศชาติของท่าน แต่เราสงสัยว่าทำไมท่านถึงสงสัยในเจตนาที่มีต่อประเทศชาติของเรา”

 

ด้าน รศ.ดร. กนกวรรณ มะโนรมย์ คณบดีคณะศิลปะศาสตร์ กล่าวว่า ไม่ผิดคาด คิดว่าวันหนึ่งจะต้องถูกเรียกอีกครั้ง ตอนแรกเข้าใจว่าเกี่ยวกับข้องกับการที่คณาจารย์ลงชื่อปล่อยตัวนักศึกษา 14 คนที่ถูกจับ โดยเมื่อวาน (16 ก.ค. 58) มีโทรศัพท์ไปที่คณะ แต่ตนลาป่วย เลขาฯ จึงได้ให้เบอร์ติดต่อกับทางทหารไป ก่อนได้รับจดหมายเชิญประมาณ 10.30 น. วันนี้ ซึ่งตนมีภารกิจต่างอำเภอ แต่เจ้าหน้าที่ได้โทรตามให้เข้าพบที่ค่าย มทบ.22 อุบลฯ ด่วนที่สุด

 

“ส่วนตัวคิดว่าการเชิญตัวครั้งนี้มีความเป็นทางการ เพราะมีหนังสือเชิญเป็นลายลักษณ์อักษร ดีกว่าการเชิญตัวครั้งก่อนที่ผ่านมา ที่ใช้การโทรศัพท์ด่วนเรียกเข้าพบ การประชุมพูดคุยครั้งนี้ ส่วนตัวเข้าใจทางเจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ แต่ก็คิดว่าเจ้าหน้าที่ทหารพยายามใช้อำนาจเหนือพวกเหล่าอาจารย์ นักวิชาการ โดยผ่านการส่งหนังสือเชิญด่วนที่สุดภายในวันนี้ และตอนนี้ อย่างไรก็ตามการประชุมพูดคุยวันนี้ บรรยากาศการพูดคุยราบรื่น เจ้าหน้าที่เป็นกันเองดี”

 

ขณะที่ ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าวว่า การที่นักศึกษามีความคิดเห็นทางด้านการเมืองไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักศึกษาที่เรียนคณะรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ คนปกติทั่วไปก็สามารถมีความเห็นทางการเมืองได้ เพราะการเมืองมันกระทบกับชีวิตอยู่แล้ว

 

“นักศึกษาไม่ว่าจะเรียนคณะไหน หรือคนทั่วไป เป็นคนกรุงเทพ ฯ คนอุบล ฯ ก็มีสิทธิที่จะคิด จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับระบบการปกครองก็ได้ มันไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นคนที่จบรัฐศาสตร์ จะต้องเป็นคนที่เรียนนิติศาสตร์ที่จะสนใจเรื่องนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่เรากำลังพูดถึงคือการปฏิรูปเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในสังคม นักศึกษามีสิทธิที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่าง สิ่งเหล่านี้เราควรที่จะยอมรับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ไม่ใช่มองความเห็นหรือการเคลื่อนไหวของนักศึกษาว่าเป็นการต่อต้านรัฐบาล มันอาจจะเป็นข้อดีต่อกระแสการปฏิรูปการเมืองก็ได้ เพราะถ้าความเห็นที่แตกต่างถูกแสดงออกมาตอนนี้ ดีกว่าจะถูกกดทับไว้ ถ้าคณะกรรมการปฏิรูปยอมรับความเห็นที่แตกต่างเหล่านี้ได้ มันก็อาจจะเป็นข้อดีที่ป้องกันความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคตก็เป็นได้”

 

ทั้งนี้ หนังสือเชิญผู้บริหาร คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยดังกล่าวลงวันที่ 16 ก.ค. 2558

แต่ส่งถึงในเช้าวันที่ 17 ก.ค. 2558

การประชุมพูดคุยครั้งนี้ไม่มีการเซ็นเอกสารจากทาง มทบ.22 ใด ๆ ทั้งสิ้น และใช้เวลาประชุมประมาณ 25 นาที

 

พล.ท.ธรากร ธรรมวินทร แม่ทัพภาคที่ 2 แถลงแก่ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 22ก.ค.2561 ถึงกรณี นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุมีการส่งทหารมากดดันคณะอาจารย์นักวิชาการ รวมถึงนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อไม่ให้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางมาประชุม ครม.สัญจร ในวันที่ 23 – 24 ก.ค.นี้ ว่า ไม่ได้ไปกดดันอะไร เพราะนายกฯ มาเป็นประชุม ครม.สัญจร ที่มหาวิทยาลัยอุบลฯ อยู่แล้ว โดยทางมหาวิทยาลัยก็ให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องของสถานที่ และที่ผ่านมาหลายจังหวัดก็ให้ใช้สถานศึกษาในการจัดประชุม ครม.สัญจร เนื่องจากว่ามีความพร้อมในด้านต่างๆ และเมื่อมีการประชุมเราก็ต้องเตรียมความพร้อมในด้านการรักษาความปลอดภัยที่จะต้องประสานงานกันทั้ง ตำรวจ พลเรือน และทหาร ยืนยันไม่มีใครไปกดดันไม่ให้ทำอย่างนั้นหรือทำอย่างนี้ เจ้าหน้าที่เพียงแต่เข้าไปพูดคุยชี้แจง เพราะบางครั้งจะต้องปิดการจราจรเส้นทางเข้า – ออก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อบุคคลที่ใช้มหาวิทยาลัย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ไม่ได้ห้ามการแสดงออกทางการเมืองของคณะอาจารย์นักวิชาการและนักศึกษาใช่หรือไม่ พล.ท.ธรากร ตอบ ว่า

 

ต้องดูเป็นกรณีว่าการเคลื่อนไหวผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะจะทำให้เสียภาพลักษณ์ของการเป็นเจ้าภาพของ จ.อุบลราชธานี  นายกฯ เข้ามาดูแลประชาชน ติดตามความก้าวหน้าตามนโยบายต่างๆ ว่า จ.อุบลราชธานี มีปัญหาอะไรหรือไม่ รัฐบาลจะได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ทั้งนี้ ในฐานะที่ จ.อุบลราชธานี เป็นเจ้าภาพที่ดี ก็ต้องแสดงออกให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้อง  เชื่อว่าไม่น่าจะมีการเคลื่อนไหวของคณะอาจารย์และนักศึกษา เพียงแต่เราขอความร่วมมือหลายอย่าง ต้องคำนึงถึงความเป็นเจ้าภาพที่ดีภาพลักษณ์การท่องเที่ยว เพราะต้องสร้างความเชื่อมั่นในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีงานแห่เทียนเข้าพรรษาอีกด้วย  นายกฯ เดินทางมา จ.อุบลราชธานี เพื่อมาศึกษาในกลุ่มจังหวัดว่าจะพัฒนาพื้นที่อย่างไร ทั้งเรื่องของคมนาคม การขนส่ง เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และตนได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งก็เตรียมแผนในการดำเนินการพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัดในฐานะที่ จ.อุบลราชธานี เป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัดก็ต้องเตรียมความพร้อม ทั้งนี้ นายกฯ มาทำอย่างไรให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดี ประชาชนสามารถเสนอปัญหาผ่านจังหวัดและต่างจังหวัด รายงานนายกฯ ให้ดำเนินการแก้ไข   นายกฯ ไม่ได้มาดูด ส.ส.ในพื้นที่อย่างที่ฝ่ายการเมืองพยายามสร้างกระแส ท่านก็ลงพื้นที่ตามปกติของท่าน เนื่องจากก่อนหน้านี้ท่านจะไปประชุม ครม.สัญจร ที่ภาคเหนือ แต่เกิดเหตุการณ์จึงเปลี่ยนมาเป็นภาคอีสาน ทั้งนี้ ภาคอีสานก็ถือเป็นพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่มีประชาชนจำนวนมาก ท่านมาเยี่ยมเยี่ยมติดตามความคืบหน้างานในด้านต่างๆ  การดูแลความเคลื่อนไหวของกลุ่มสามมิตร และพรรคประชารัฐ ที่ลงพื้นที่ในภาคอีสาน ดึงนักการเมืองในพื้นที่เข้าร่วมพรรคนั้น ยืนยันว่า เราไม่ได้เข้มงวดหรือเพ่งเล็งกลุ่มไหนเป็นพิเศษ เพียงแต่ดูว่าเข้ามาในพื้นที่มีการทำผิดกฎหมายอะไรหรือไม่

 

 

 

matemnews.com 

22 กรกฎาคม 2561