Home ต่างประเทศ 9 ส.ค. ครบรอบ 73 ปี “นางาซากิ” ถูกปรมาณูถล่ม!! ปิดท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2

9 ส.ค. ครบรอบ 73 ปี “นางาซากิ” ถูกปรมาณูถล่ม!! ปิดท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2

1881
0
SHARE

การเดินทางไปเมืองนางาซากิของนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในวันพฤหัสบดี 9 ส.ค. อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไรนัก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่คนในตำแหน่งดังกล่าวเดินทางไปร่วมพิธีรำลึกประจำปีที่เมืองซึ่งถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 1945 ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

นางาซากินับเป็นเมืองสุดท้ายในโลกที่โดนโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูของกองทัพสหรัฐฯ ทว่ากลับถูกมองว่าเป็นเมืองที่ “ถูกลืม” เพราะคนมักจะนึกถึงแต่การทิ้งระเบิดที่เมืองฮิโรชิมาซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าเพียงสามวัน

ย้อนไปวันที่ 14 ส.ค. 1945 ญี่ปุ่นยินยอมพ่ายสงครามต่อฝ่ายพันธมิตร และลงนามเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ซึ่งนับว่าเป็นการสิ้นสุดสงครามอย่างเป็นทางการ เกร็ก มิทเชล นักเขียนชาวอเมริกัน ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ไม่เคยมีใครเขียนหนังสือขายดี หรือสร้างภาพยนตร์ โดยใช้ชื่อ “นางาซากิ” เลย

ย้อนไปปี 2016 นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ไปเยือนแค่เมืองฮิโรชิมา และไม่มีนางาซากิอยู่ในกำหนดการ ทำให้ผู้รอดชีวิต และญาติ ๆ ของผู้เสียชีวิตราวห้าหมื่นคนจากเหตุการณ์เมื่อ 73 ปีที่แล้วในเมืองนางาซากิต้องผิดหวัง

มีการคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากระเบิดในเมืองฮิโรชิมาราว 135,000 คน แม้ว่า “Fat Man” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของระเบิดที่ถล่มนางาซากิจะมีน้ำหนักระเบิดทีเอ็นทีถึง 20 กิโลตัน ในขณะที่ “Little Boy” ซึ่งถล่มฮิโรชิมามีน้ำหนักเพียง 15 กิโลตัน นี่เป็นผลจากสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างของเมืองทั้งสอง ในขณะที่ฮิโรชิมาเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ นางาซากิตั้งอยู่บนบริเวณสองหุบเขาซึ่งรายงานของกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า ช่วยลดความเสียหายได้อย่างมาก

อีกเหตุผลหนึ่งที่ฮิโรชิมาเป็นที่จดจำมากกว่าเป็นเพราะปฏิบัติการในที่เมืองนั้นเป็นผลมาจากการวางแผนและลงมือปฏิบัติที่ดี หากพิจารณาในมุมมองทางยุทธศาสตร์ทหาร

แต่สำหรับ นางาซากิ นี่ถือเป็นความโชคร้ายที่สุด เพราะเมื่องที่สหรัฐได้ตั้งเป้าหมายในการโยนปรมาณูคือ โคกุระ เนื่องจากมีความเป็นเมืองและมีความเจริญทางอุตสาหกรรม และตั้งอยู่บนที่ราบ

กองทัพสหรัฐฯ เกือบจะโจมตีเมืองโคกุระ แต่ต้องพบกับสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยเมฆหมอกและควัน และตัดสินใจเลือกนางาซากิแทนอย่างกะทันหัน คนญี่ปุ่นยังใช้คำกล่าวที่ว่า “Kokura luck” หรือ โชคของโคกุระ ในการพูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นจนถึงทุกวันนี้