เฟชบุ้ค ไทยคู่ฟ้า ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เผยแพร่
ที่ผ่านมา สัญญาเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่เราทำกับบริษัทไฟแนนซ์ จะคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ นั่นคือ เมื่อเราผ่อนค่างวดไปแต่ละงวด ดอกเบี้ยก็ยังคิดจากเงินต้นที่กู้มาแต่แรก ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม ต้องแบกภาระดอกเบี้ยที่ไม่ตรงต่อความเป็นจริง และอาจต้องเสียเงินเพิ่มหากต้องการโปะเงินทั้งหมดเพื่อปิดบัญชี
รัฐบาลชุดปัจจุบันเล็งเห็นถึงปัญหาของผู้บริโภค โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ประกาศใช้กฎหมายใหม่ เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 61 ที่ผ่านมา หลังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากถูกเอาเปรียบจากสัญญาเช่าซื้อ
มารู้จัก “ธุรกิจควบคุมสัญญา” ว่าคืออะไร?
ธุรกิจควบคุมสัญญา คือ ธุรกิจที่ถูกกำกับเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ และได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาต่าง ๆ โดยรายละเอียดสัญญาต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายของ สคบ.
กฎหมายฉบับใหม่ดีต่อผู้บริโภคอย่างไร?
- การคิดดอกเบี้ยจะคิดแบบลดต้นลดดอก (อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง) เช่นเดียวกับการคํานวณดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด
- กรณีผู้ซื้อผิดนัดชำระ จะถูกคิดดอกเบี้ยลดลงอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 15 (จากเดิมสูงสุดถึงร้อยละ 17)
- บริษัทให้เช่าซื้อจะต้องทำตารางแสดงค่างวด แยกเงินต้น และวิธีการคิดอัตราดอกเบี้ยให้ผู้ซื้อทราบอย่างชัดเจน
- หากผู้ซื้อต้องการชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว (โปะ) บริษัทให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลดดอกเบี้ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
- เมื่อผู้ซื้อผิดนัดชําระ 3 งวดติดต่อกัน บริษัทให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่จะต้องแจ้งลูกค้าล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน
- ให้สิทธิผู้เช่าซื้อ สามารถซื้อรถคืนได้ภายใน 7 วัน หลังถูกยึดรถ และหากสละสิทธิจะต้องมีหนังสือแจ้งผู้ค้ำประกันไม่น้อยกว่า 15 วัน
- กรณีจะนำรถขายทอดตลาดหรือประมูล บริษัทให้เช่าซื้อจะต้องแจ้งผู้ซื้อและผู้ค้ำประกันล่วงหน้าทราบล่วงหน้า 7 วัน
- บริษัทให้เช่าซื้อสามารถเก็บค่าธรรมเนียมทวงถามได้ตามจริง แต่ห้ามเก็บค่าดำเนินการยึดรถ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายฉบับใหม่นี้มีผลเฉพาะการเช่าซื้อรถเพื่อใช้งานส่วนบุคคลเท่านั้น ไม่รวมถึงกรณีนิติบุคคล และการซื้อเพื่อการขนส่ง การค้า ธุรกิจ หรือเพื่อสินจ้าง รวมทั้งจะไม่มีผลย้อนหลังกับสัญญาเช่า – ซื้อรถที่ดำเนินการก่อนวันที่ 1 ก.ค. 61 โดยยังคิดอัตราดอกเบี้ยแบบเดิม
ทั้งหมดนี้ คือ สาระสำคัญของกฎหมายใหม่ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งจะช่วยคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ต้องเสียเงินเกินจริง และยังคุ้มครองไปถึงผู้ค้ำประกันอีกด้วย
ดังนั้น ก่อนเช่าซื้อรถยนต์ – รถจักรยานยนต์ โปรดศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมายให้ดี เพื่อป้องกันการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือถูกเอารัดเอาเปรียบในทุกกรณี
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/E/035/6.PDF
matemnews.com
15 สิงหาคม 2561