Home ข่าวทั่วไปรอบวัน  ตุลาคมเริ่มแล้ง

 ตุลาคมเริ่มแล้ง

673
0
SHARE

 

 

 

นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต   แถลงแก่ผู้สื่อข่าว  เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2561 ว่า

 

อิทธิพลพายุบารีจัต ที่สลายตัวเป็นหย่อมความกดอากาศไปแล้ว  แต่ยังส่งผลกระทบมีฝนตกในภาคอีสานตอนบนของไทย ระหว่างวันที่14-15 ก.ย.2561 ขอให้เฝ้าระวังพายุลูกสำคัญตัวหลัง พายุมังคุด เป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่น  ระดับรุนแรงมาก   กำลังเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปินส์ วันที่ 15 ก.ย.2561  จะมากระทบไทยวันที่17-19 ก.ย.2561 พายุนี้เข้าทะเลจีนใต้เป็นไต้ฝุ่นจึงกระแทกแรงมากตอนปะทะชายฝั่งทะเลจีนใต้ และเวียดนาม  ก่อนจะลดระดับเป็นพายุโซนร้อนและดีเปรสชั่นต่อไป  ส่งผลให้ฝนหนักพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงราย น่าน เชียงใหม่ และภาคอีสานบางส่วน

 

พายุ มังคุด มาเพิ่มกำลังให้กับแนวร่องฝนที่พาดผ่านตอนกลางประเทศไทย รวมกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้  จึงส่งผลกระทบไทยฝนตกมากทั่วประเทศ   ต้องเตือนประชาชนให้ระมัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน ยกเว้นภาคใต้เท่านั้นไม่กระทบ

 

เขื่อนที่มีน้ำเต็มแล้วหรือใกล้เต็ม หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเร่งพร่องก่อนวันที่ 17 ก.ย.2561 เช่นเขื่อนน้ำอูน มีน้ำเต็มอยู่ต้องเร่งระบาย เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครรินทร์ ขณะนี้พร่องน้ำเกือบ100 ล้านลบ.ม.ต่อวัน น่าจะพอมีพื้นที่รับน้ำได้อีก  ให้ประเมินน้ำเข้าเขื่อนในหลักการบริหารเขื่อนต้องไม่ให้น้ำเต็มเขื่อน หากจะระบายเพิ่มมากว่า100ล้านลบ.ม.  ขอให้เร่งแจ้งประชาชนท้ายอ่างล่วงหน้า  อาจได้รับผลกระทบท่วมได้

 

ภาคตะวันออก มีฝนมากขึ้นในพื้นที่   จะกระทบลุ่มน้ำปราจีนบุรี ลุ่มน้ำนครนายก มีน้ำมากอยู่แล้ว   ต้องเพิ่มการระบายเขื่อนขุนด่าน เขื่อนนฤบดินจินดา(ห้วยโสมง)

 

ภาคกลาง เข้าช่วงฤดูฝนในช่วงมีฝนมาก แต่ไม่น่าห่วงเพราะเขื่อนใหญ่ที่มีอยู่มีพื้นที่ว่างรับน้ำได้อีก 40 เปอร์เซนต์   ทั้งเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์

 

ปริมาณน้ำฝนตกปีนี้ ยังน้อยกว่าปี 2560 และปี 2560  ก็มีฝนน้อยกว่าปี 2554   แต่บางหน่วยงานกลับบอกว่ามีฝนเท่ากัน ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ตนได้ไปพูดกับนายกรัฐมนตรี ได้เข้าใจแล้วว่า  ถ้าดูค่าเฉลี่ยรวมทั่วประเทศปี 2560  เท่ากับปี 2554 แต่ฝนตกหนักที่ภาคใต้ ส่วนภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคกลาง ตกน้อยจึงไม่ท่วมกรุงเทพ –ปริมณฑล   ไม่เกี่ยวกับมีพื้นที่ทุ่งแก้มลิง 13 ทุ่งมาช่วยแต่อย่างใด  ถ้าหากฝนมากอย่างปี2554 แก้มลิงก็โดนท่วมหมดเช่นกัน  ฝนปีนี้น้อยกว่าปี 2554 มาก ปัจจุบันฝนตกภาคเหนือ 1.1 พันมม. ในปี 2554 ตกในภาคเหนือ 1.4 พันมม. จึงไม่ต้องกลัวน้ำท่วม

 

ล่าสุดปริมาณน้ำผ่าน จ.นครสวรรค์ ยังมีน้อยอยู่ โดยปีนี้ในอัตรา 3.1 พันล้านลบ.ม. ปี 2554 ในอัตรา 9 พันล้านลบ.ม. ต่างกันมากเกือบ 3 เท่าตัว ปีที่แล้ว 5 พันล้านลบ.ม.  ดังนั้นปีนี้จะไม่ท่วมพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ไม่ต้องกังวล ไม่กระทบกรุงเทพฯแน่นอน เพราะสถานการณ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำน้อยกว่าปีที่แล้ว

 

ค่าเฉลี่ยฝนปีนี้ยังมากกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 30ปี ทั้งนี้พายุโซนร้อนที่เกิดขึ้นมาบริเวณเอเซียใต้ในทุกปีมี 26 ลูก พายุขณะนี้เกิดขึ้นแล้ว 23 ลูก ตั้งแต่ต้นปีในจำนวนนี้เป็นพายุไต้ฝุ่น 9 ลูก ฉะนั้นจะเหลืออีก 3 ลูก ที่น่าจะมีพายุเกิดขึ้น ยังไม่รู้เส้นทางไปแนวใด ส่งผลกับไทยหรือไม่ต้องเฝ้าระวัง ที่ผ่านมายังไม่มีพายุเข้าไทยโดยตรง  เดือน ก.ย.เป็นช่วงพายุมากที่สุด  ถ้าผ่านไปเดือนต.ค.จะน้อยลง ดังนั้น2สัปดาห์นี้ยังเฝ้าระวัง

 

ฝนตกชุกช่วงนี้ส่งผลดีให้เก็บน้ำในเขื่อนได้มาก เพราะมีปรากฏการณ์แอลนิโญ่ พายุหมดเร็ว เป็นสัญญาแล้งเกิดขึ้นตลอดช่วง 2ปีข้างหน้า   เข้าสู่วิกฤติภัยแล้งรุนแรงเช่นเดียวกับปี2558 เริ่มแล้งตั้งแต่เดือน ต.ค. พ.ย.  2561  จึงเตือนเกษตรกรผลผลิตจะเสียหายจากภัยแล้ง การบริหารน้ำเขื่อนต้องสำรองไว้ใช้เกิดภัยแล้ง 2 ปีข้างหน้าด้วย

 

matemnews.com 

14  กันยายน 2561