Home ข่าวทั่วไปรอบวัน ประวัติศาสตร์ส่วนที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ถูกลบไปจากความทรงจำของผู้คนในสังคม

ประวัติศาสตร์ส่วนที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ถูกลบไปจากความทรงจำของผู้คนในสังคม

856
0
SHARE

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้สัมภาษณ์ บีบีซีไทย ที่สำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอน ในวันที่ 8 ต.ค. ขณะเยือนอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และเบลเยียม ว่า การมาเยือนครั้งนี้ เพื่อขยายวิสัยทัศน์ของพรรคให้คนไทยในต่างประเทศและชาวต่างประเทศได้รับฟัง

ในโอกาสที่มาเยือนประเทศต้นแบบประชาธิปไตย ในช่วงครบรอบเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย 2 เหตุการณ์ คือ ชัยชนะของประชาชนในการขับไล่ระบบเผด็จการของ จอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 14 ต.ค. 2516 และ การล้อมปราบประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 ต.ค. 2519 ซึ่งเขาได้ออกความคิดเห็นต่อสองเหตุการณ์นี้ว่า …

“ประวัติศาสตร์ส่วนที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยถูกลบไปจากหน้าหนังสือเรียน ถูกลบไปจากพิพิธภัณฑ์ ถูกลบไปจากความทรงจำของผู้คนในสังคม” นายธนาธร กล่าวถึง 2 เหตุการณ์เดือนตุลาคม และเสริมว่าการต่อสู้กับเผด็จการในทุกประเทศ คือ “การต่อสู้กับความพยายามทำให้ลืม”

“ต้องชำระประวัติศาสตร์ทำความจริงให้ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นในหนังสือเรียน หรือ ในพิพิธภัณฑ์ ต้องทำ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าว

นายธนาธรยกเหตุการณ์ปะทะระหว่างกองกำลังของรัฐและผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คนเมื่อ มี.ค.-พ.ค. 2553 ว่า คนไทยถูกทำให้ลืมเช่นกัน และรัฐไทยต้องให้การเยียวยา และคืนความเป็นธรรมให้ทุกฝ่าย

“การที่เราลืมเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้มันเกิดซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า ทำให้ต้องมีคนตายเพราะต่อสู้เพื่อเรียกร้องเสรีภาพครั้งแล้วครั้งเล่า มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ถ้าจะทำให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้า ต้องเยียวยา วิธีเยียวยาที่ดีที่สุด คือ คืนความเป็นธรรมให้ทุกฝ่ายที่ถูกยัดเยียดความอยุติธรรม นั่นรวมถึงการทำความจริงให้ปรากฏ”

นับแต่เกิดวิกฤตการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 ประเทศไทยผ่านการรัฐประหาร 2 ครั้ง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาล 7 ครั้ง และ การชุมนุมประท้วงน้อยใหญ่นับครั้งไม่ถ้วน ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งบาดเจ็บและเสียชีวิตนับร้อย

รัฐบาลในอดีตพยายามสร้างความปรองดองมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงการใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2560 เพื่อจัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง” (ป.ย.ป.)” เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2560

แต่หากย้อนดูประวัติศาสตร์ความพยายามในการผลักดันสร้างความปรองดองที่ผ่านมาโดยเฉพาะในรอบ 12 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่า ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนเลยที่ประสบความสำเร็จ แม้พยายามนำหลากหลายรูปแบบมาสร้างความปรองดอง

ภายหลังเหตุสลายการชุมนุมช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)” โดยเชิญนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด มาเป็นประธาน ภารกิจหลักของ คอป. นอกจากตรวจสอบรากเหง้าของสาเหตุความขัดแย้งรวมถึงเหตุการณ์รุนแรง ยังรวมถึงจัดทำข้อเสนอในการสร้างความปรองดองในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การทำงานของ คอป. ตลอดระยะเวลา 2 ปี (เดือนก.ค. 2553 – 2555) กลับไม่ได้รับการยอมรับจากบางฝ่ายที่มองว่าตั้งขึ้นมาเพื่อฟอกความผิดให้กับฝ่ายบริหารขณะนั้น โดยเฉพาะการสรุปข้อเท็จจริงเหตุสลายการชุมนุมที่มีการระบุถึง “ชายชุดดำ” ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรงหลาย ๆ เหตุการณ์ ทั้งนี้ คอป. ได้อ้างถึงข้อจำกัดในการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เนื่องจาก คอป. จัดตั้งโดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น จึงทำได้เพียงขอความร่วมมือ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องไม่มากนัก

และเมื่อพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ให้แก่พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 บทบาทของ คอป. ก็ยิ่งลดน้อยถอยลงกระทั่งไม่มีความสำคัญใด ๆ ก่อนจะพ้นวาระไป ทิ้งไว้เพียงรายงานฉบับสมบูรณ์ที่มีความหนาถึง 276 หน้าเท่านั้น

นายธนาธร มองว่า ข้อเสนอของกรรมการชุดของนายคณิตไม่ได้ถูกนำไปใช้ เพราะ “เกิดขึ้นมาจากรัฐบาลที่มาจากค่ายทหาร” ที่หมายถึง รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

“เราต้องเอา กรรมการชุดที่เป็นกลางจริง ๆ มาจากประชาชนมามีส่วนร่วมจริง ๆ หรือ เอาองค์กรที่เป็นสากลมาร่วมด้วยก็ได้ ทำเรื่องความยุติธรรมให้เกิดขึ้น เยียวยาบาดแผลทุกฝ่าย ยกเว้นแกนนำ ถ้าไม่ทำ ประเทศไทยจะเกิดประชาธิปไตยที่ยั่งยืนไม่ได้”

 

ข้อมูลโดย บีบีซีไทย – BBC Thai