หลายคนคงยังจำกันได้ถึงคลิปวิดีโอที่หนุ่มอินเดียโดนรถไฟชนเสียชีวิตขณะกำลังพยายามถ่ายเซลฟีให้ได้ “ช็อตเด็ด” กลายเป็นอุทาหรณ์เตือนใจว่าต้องคิดให้ดีก่อนจะเซลฟีครั้งถัดไป เพราะมันอาจคร่าชีวิตคุณได้หากไม่ระมัดระวังพอ
.
เร็วๆ นี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้รับตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Journal of Family Medicine and Primary Care โดยผู้วิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์อินเดีย ( All India institute of Medical Sciences) อ้างอิงจากรายงานข่าวการเสียชีวิตขณะเซลฟีจากทั่วโลกในช่วงปี 2011-2017 หรือช่วง 6 ปีที่ผ่านมา และได้ข้อสรุปว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่างกำลังพยายามจะกดถ่ายเซลฟีเด็ดๆ มากถึง 259 ราย
.
คณะผู้วิจัยพบว่า ครึ่งหนึ่งของการเสียชีวิตเพราะเซลฟีนั้นเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย (76 ราย) ตามมาด้วยปากีสถาน (9 ราย) สหรัฐอเมริกา (8 ราย) รัสเซีย (6 ราย) ฟิลิปปินส์ (4 ราย) จีน (4 ราย) สเปน (3 ราย) อินโดนีเซีย โปรตุเกส เปรู ตุรกี (แห่งละ 2 ราย) และโรมาเนีย ออสเตรเลีย เม็กซิโก แอฟริกาใต้ อิตาลี เซอร์เบีย ชิลี เนปาล ฮ่องกง (แห่งละ 1 ราย)
.
อัตรา 7.25 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตายเป็นเพศชาย และอีก 27.5 เปอร์เซ็นต์เป็นเพศหญิง เพราะถึงแม้ว่าเพศหญิงมีแนวโน้มว่าจะถ่ายเซลฟีบ่อยครั้งกว่า แต่งานวิจัยพบว่าเพศชายมักมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายมากกว่านั่นเอง
.
สาเหตุการตายที่มาเป็นอันดับ 1 คือการจมน้ำ ซึ่งหมายรวมถึงการโดนคลื่นม้วนกลืนลงทะเลไปจากชายหาด และการที่เรือล่มระหว่างถ่ายเซลฟีบริเวณชายฝั่งโดยที่ว่ายน้ำไม่เป็น
.
สาเหตุอันดับ 2 คือการคมนาคม เช่น การถ่ายเซลฟี่หน้าขบวนรถไฟที่กำลังวิ่งเข้ามา ส่วนสาเหตุหลักอื่นๆ ได้แก่การร่วงจากที่สูงและไฟไหม้ ซึ่งมีจำนวน 48 กรณี
.
สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคืองานวิจัยยังพบอีกว่า อัตราการตายเพราะเซลฟีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมเมื่อปี 2011 มีรายงานการเสียชีวิตเพราะเซลฟีเพียง 3 ราย แต่สูงขึ้นเป็น 98 รายในปี 2016 และ 93 รายในปี 2017 ซึ่งคาดว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้โทรศัพท์มือถือกันมากขึ้น และการหาซื้อไม้เซลฟีได้ง่ายขึ้น
.
ทั้งนี้ ช่วงอายุที่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตระหว่างเซลฟีมากที่สุดอยู่ที่ 10-19 ปี และ 20-29 ปี
.
“วัยรุ่นและนักท่องเที่ยวมักเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด เพราะต้องการจะ ‘ดูเท่’ เวลาโพสต์รูปลงบนสื่อสังคมออนไลน์ และได้รับยอดไลก์กับคอมเมนต์เป็นเหมือนรางวัลตอบแทน” งานวิจัยกล่าว
.
อย่างไรก็ดี งานวิจัยยังระบุว่า “การถ่ายภาพเซลฟีนั้นไม่ได้อันตรายด้วยตัวของมันเอง แต่พฤติกรรมของมนุษย์ขณะถ่ายเซลฟีต่างหากที่อันตราย ดังนั้นควรจะมีการให้ความรู้ว่าพฤติกรรมใดหรือสถานที่ใดที่เสี่ยงอันตรายและไม่ควรถ่ายภาพเซลฟี”
ข้อมูลโดย China Xinhua News