พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2561 เวลา 10.30 น. พูดกับประชาคมวิจัยทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย จำนวน 500 คน ที่พากันมาเข้าพบ
“วันนี้ฝากให้ไปช่วยคิดว่า เราจะแก้ปัญหาการจราจรได้อย่างไร การเชื่อมต่อระบบมวลชน ไฟเขียวไฟแดงจะทำอย่างไร เมื่อตำรวจจราจรไปยืนตามจุด รถไม่ควรจะติด แต่กลายเป็นว่าวันนี้ประชาชนไม่ต้องการตำรวจจราจร เพราะยิ่งไปยืน รถยิ่งติด มีการร้องมาถึงผมว่า อย่าให้ตำรวจจราจรไปยืน อย่างน้อยเขาทนได้ถ้ารถติดตามปกติ แต่ไม่ใช่ติดนานกว่าเดิมเพราะตำรวจจราจร ต่างคนก็อยากไปส่งลูก ต้องไปช่วยกันคิดว่าไฟจราจรอัตโนมัติที่ต่างประเทศมีเขาทำอย่างไร แต่ผมก็ไม่ไหว มันแพง ถ้าเราช่วยกันคิด น่าจะแก้ไขได้ ตำรวจไม่ต้องไปยืน ให้นั่งอยู่ในป้อมเฉยๆ เวลาเกิดรถชนแล้วค่อยออกมา ถ้าทุกคนเคารพกฎจราจรแม้รถจะติดก็ยอมรับกันได้ ไม่ใช่ขับรถป่ายซ้ายป่ายขวาขึ้นไปวิ่งบนฟุตบาท ย้อนศรก็มี เผลอๆ ก็ชักปืนออกมายิงกัน ประเทศไทยครบทุกรส ต้องแก้ปัญหาทั้งหมด เรื่องกล้องซีซีทีวีเสีย การบริหารถนน แหล่งน้ำ”
ต่อมาเช้าวันที่ 7 พ.ย.2561 พล.ต.ต.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รรท. รองผู้บัญชาการกองบัญชาการการศึกษา ในฐานะ คณะทำงานแก้ไขปัญหาจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงแก่นักข่าว ว่า
“พร้อมนำข้อเสนอของนายกรัฐมนตรีไปปรับใช้ให้เหมาะสม ส่วนใดที่ยังเป็นปัญหาต้องเร่งแก้ไข อยากชี้แจงว่าที่เห็นตำรวจจราจร ลงไปโบกรถหรืออำนวยการจราจรตามถนนต่างๆ เป็นเพราะศูนย์ควบคุมสั่งการจราจร มองไม่เห็นสภาพปัญหา การจราจรติดขัด หรือเกิดอุบัติเหตุบนถนนที่แท้จริง จึงให้เจ้าหน้าที่ลงไปช่วยดูแล ทำให้หลายคนเข้าใจว่าตำรวจจราจรเป็นสาเหตุของปัญหารถติดหลังจากนี้ จะต้องทำความเข้าใจกับตำรวจ ระดับปฏิบัติรวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนให้มากขึ้น ต้องทำให้เห็นว่า มีตำรวจแล้วการจราจรดีขึ้น เช่นเดียวกับกรณีที่ฝนตกหนักน้ำท่วมแล้วเห็นตำรวจจราจร สวมเสื้อกันฝน ลงไปช่วยโบกรถไม่ใช่ออกมายืนตามสี่แยก คอยจับกุมผู้ใช้รถใช้ถนน ข้อเสนอให้ใช้ระบบไฟจราจรอัตโนมัติ ทุกแยกจราจร นั้นส่วนตัวมองว่า จะทำให้การจราจรติดขัดยิ่งกว่าเดิม ขณะที่ สภาพการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนของกรุงเทพฯทั้งเช้าและเย็นที่ผ่านมาใช้ระบบ ควบคุมด้วยมือทั้งหมดเนื่องจาก ต้องการใช้ถนนทุกพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด ในอนาคตการแก้ปัญหาจราจร จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ และต้องเป็นระบบที่คนไทยคิดขึ้นเอง เนื่องจากเทคโนโลยีจากต่างประเทศมีราคาแพง ล่าสุด คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังอยู่ในระหว่างการออกแบบระบบควบคุม สัญญาณไฟจราจร โดยมี เซ็นเซอร์ตรวจจับ ท้ายแถวของแต่ละแยก นำมาคำนวณจังหวะการเปิด สัญญาณไฟจราจร ขณะนี้กำลังทดลองอยู่บริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ มองว่าในอนาคตเทคโนโลยีทำนองนี้ จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด”
matemnews.com
7 พฤศจิกายน 2561