Home ต่างประเทศ ‘คืนชีพศพด้วยกระแสไฟฟ้า’ ต้นแบบของแฟรงเกนสไตน์ การทดลองในตำนาน

‘คืนชีพศพด้วยกระแสไฟฟ้า’ ต้นแบบของแฟรงเกนสไตน์ การทดลองในตำนาน

1016
0
SHARE

หนึ่งในตัวละครชื่อดังจากนวนิยายสยองขวัญแนววิทยาศาสตร์ร่วมสมัย ต้องยกให้ ‘แฟรงเกนสไตน์’ มาเป็นอันดับต้นๆ ด้วยการนำแนวคิดคืนชีพให้กับซากศพ จากการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน ด้วยวิวัฒนาการทางด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์

แต่ก่อนที่คุณจะคิดว่ามันเป็นแค่เรื่องนวนิยายสยองขวัญ ตามจินตานาการเพียงเท่านั้น เอาเข้าจริงๆ แล้ว พอจะมีเค้าโครงมาจากความเป็นจริงอยู่บ้าง จากการทดลองของนักฟิสิกส์นามว่า Giovanni Aldini

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 17 มกราคม 1803 ชายหนุ่มนาม George Forster ถูกประหารชีวิตจากความผิดฐานฆาตกรรม ด้วยวิธีการแขวนคอภายในคุกนิวเกท ณ กรุงลอนดอน

และหลังจากการประหารชีวิต ศพของเขาถูกนำไปประจานทั่วเมือง ก่อนที่จะถูกนำร่างไร้วิญญาณมากระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าอีกทีหนึ่ง

โดยศพที่ถูกนำมาส่งนั้นมีจุดประสงค์เพื่อการทดลอง และจะทำการทดลองโดยนักปรัชญาธรรมชาติ และนักฟิสิกส์ชาวอิตาเลียน Giovanni Aldini ผู้มีศักดิ์เป็นหลานของ Luigi Galvani ผู้ค้นพบการกระตุ้นศพให้ขยับได้ในสัตว์ ด้วยกระแสไฟฟ้า

บันทึกจากการรายงานผ่านหนังสือพิมพ์ The Times ระบุว่า ในขั้นตอนแรกของกระบวนการ ขากรรไกรของคนร้ายที่เสียชีวิตเริ่มขยับ กล้ามเนื้อมีสภาพบิดเบี้ยวอย่างน่าสยดสยอง

ดวงตาข้างหนึ่งข้างก็เปิดออก ส่วนที่เกิดขึ้นตามมานั้น มีมือขวายกขึ้นมา ขาและต้นขาเริ่มมีการเคลื่อนไหว…

ทั้งนี้ จากการทดลองของ Aldini กับศพของนาย Forster นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้นแต่อย่างใด ทว่าเคยมีการทดลองในแนวเดียวกันเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วตั้งแต่ช่วงปี 1700 ในกรณีของกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ขยับด้วยกระแสไฟฟ้า

ด้านฝูงชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ในการทดลองครั้งนี้ ต่างเชื่อว่าศพของนาย Forster กลับมามีชีวิตจริงๆ แม้จะไม่ได้ลุกขึ้นมาเดินเล่นเพ่นพ่านก็ตาม

สื่อท้องถิ่นที่เข้าร่วมในครั้งนี้ ได้ทำการตีพิมพ์รายงานระบุไว้ว่า Aldini สามารถคืนชีพให้กับศพได้จริง แต่จะทำได้เฉพาะตอนที่เขาใช้ไฟฟ้าช็อตกระตุ้นร่างของ Forster เท่านั้น

และด้วยแนวคิดของการนำกระแสไฟฟ้า มากระตุ้นซากศพให้มีชีวิตอีกครั้งของ Aldini ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบทประพันธ์นวนิยายอันโด่งดัง ‘Frankenstein’ ผลงานชิ้นเอกระดับโลกของ Mary Shelley ตีพิมพ์ครั้งแรก ณ กรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 1 มกราคม 1818

 

 

ที่มา: livescience, launchistory, ncbi, popsci , catdumb