Home ต่างประเทศ นี่คือ…ทารกคนแรกที่ถือกำเนิดจาก ‘มดลูก’ ที่ได้รับบริจาคจากผู้เสียชีวิต !!

นี่คือ…ทารกคนแรกที่ถือกำเนิดจาก ‘มดลูก’ ที่ได้รับบริจาคจากผู้เสียชีวิต !!

733
0
SHARE

กลายเป็นข่าวใหญ่ที่น่ายินดีสำหรับคนทั่วโลก เมื่อหญิงชาวบราซิลวัย 32 ปีให้กำเนิดบุตรสาวสุขภาพแข็งแรงดี โดยใช้มดลูกที่เธอได้รับการปลูกถ่ายจากผู้บริจาคที่เสียชีวิต ทารกน้อยคนนี้จึงกลายเป็นเด็กคนแรกของโลกที่ถือกำเนิดจากมดลูกที่ได้มาจากการปลูกถ่ายอวัยวะ

นักวิจัยชาวบราซิลเปิดเผยผ่านวารสารการแพทย์ เดอะแลนเซต (The Lancet) ฉบับตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (4 ธ.ค.) ว่า “ผลลัพธ์นี้คือหลักฐานที่มายืนยันสมมุติฐานของการรักษาภาวะมีบุตรยากอันเนื่องมาจากมดลูก ด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว กลายเป็นใบเบิกทางให้กับการตั้งครรภ์อย่างดีต่อสุขภาพของผู้หญิงทุกคนที่ประสบปัญหามีบุตรยากอันเนื่องมาจากมดลูก โดยไม่จำเป็นจะต้องรับบริจาคมดลูกจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือต้องพึ่งการผ่าตัดขณะยังมีชีวิต”

ทารกหญิงผู้นี้ถือกำเนิดด้วยการผ่าตัดคลอดในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเซาเปาโล ประเทศบราซิล เมื่อเดือนธันวาคม 2017 ซึ่งขณะนั้นแม่ของเธอมีอายุครรภ์ได้ 36 สัปดาห์

เด็กหญิงมีน้ำหนักแรกเกิด 2,550 กรัม และยังคงสุขภาพดี มีพัฒนาการปกติต่อเนื่อง 7 เดือนหลังคลอด ส่วนผู้เป็นแม่ก็ได้รับการผ่าตัดเอามดลูกออกในกระบวนการผ่าตัดเดียวกันนั้นเอง และยังคงมีสุขภาพแข็งแรงดีเช่นกัน

การผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกดำเนินการไปเมื่อเดือนกันยายน 2016 โดยหญิงที่รับบริจาควัย 32 ปีไม่มีมดลูกมาตั้งแต่กำเนิด ส่วนผู้บริจาคคือหญิงวัย 45 ปีซึ่งเคยคลอดบุตรธรรมชาติมาแล้ว 3 ครั้ง และเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมอง

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้การผ่าตัดปลูกถ่ายมดลูกจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิตอยู่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว 2 เคส เคสแรกคือเมื่อเดือนธันวาคม 2017 ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ รัฐเทกซัส ได้ประกาศการถือกำเนิดของทารกคนแรกที่คลอดจากมดลูกจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต

การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเป็นหนึ่งในกระบวนการทางการแพทย์ที่ซับซ้อนที่สุด เนื่องจากมีความเสี่ยงจะล้มเหลวได้จากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อ ร่างกายปฏิเสธอวัยวะ และภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่นๆ รวมถึงการถึงแก่ชีวิต

ในขณะเดียวกันก็ยังมีความท้าทายระหว่างกระบวนการอื่นๆ เช่น การขาดแคลนอวัยวะ อวัยวะอาจขาดเลือดหรือออกซิเจนระหว่างการขนย้ายหรือการเก็บรักษา รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมจรรยาต่างๆ

ช่วง 2-3 ปีมานี้ นอกเหนือไปจากการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยเมื่ออวัยวะที่สำคัญต่อชีวิตเกิดภาวะล้มเหลว นักวิทยาศาสตร์ยังเคยลงมือผ่าตัดปลูกถ่ายมือหรือใบหน้าเพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกด้วย

 

 

 

ข้อมูลโดย China Xinhua News