เลขาธิการพรรคเพื่อไทย : ทัศนะและความคิดเห็นต่อสถานการณ์ปัจจุบัน
ประเด็นที่ 1) การเปลี่ยนแปลงในพรรค การมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ และความขัดแย้งภายในพรรค
- เป็นเรื่องปกติของพรรคการเมือง ที่มีความเห็นแตกต่างกันได้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งใหญ่โตใดๆ พรรคเพื่อไทยเป็นสถาบันทางการเมือง ความเป็นพรรคการเมืองนั้นสมาชิกต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรค ไม่ใช่ตามการชี้นำของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง และแน่นอนการเลือกผู้นำพรรคก็จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรค ที่สำคัญมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ทุกอย่างผ่านกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรค
- ปัจจุบันประเทศเรายังไม่เป็นประชาธิปไตย และพรรคการเมืองยังอยู่ภายใต้คำสั่ง คสช. ซึ่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ดังนั้นจึงยังไม่สามารถเรียกประชุมสมาชิก เพื่อเลือกผู้นำพรรคที่เหมาะสมได้
- ในประเด็นการห้ามทำกิจกรรมนั้น ในส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ยังคงปิดกั้น ไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรม และแสดงความคิดเห็นได้โดยอิสระ ถือเป็นความหวาดระแวงจนเกินไป ซึ่งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ได้ทำอะไรที่เกินเลยจากกรอบสิทธิ เสรีภาพที่พึงกระทำได้ อยากบอกว่าทุกคนล้วนรักประเทศเช่นเดียวกับท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย และไม่มีใครอยากเห็นความขัดแย้ง สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ดังนั้นจึงควรให้โอกาสพรรคการเมืองและประชาชนส่วนต่างๆ ได้มีบทบาทแสดงความเห็นและดำเนินกิจกรรมตามปกติได้ ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์โดยรวมแก่ประเทศได้มากกว่า
- ขณะนี้ภายในพรรคยังไม่มีการหารือเรื่องผู้นำพรรค เพราะเรายังไม่สามารถรู้ได้ว่าสถานการณ์การเมืองและความต้องการของพี่น้องประชาชนในแต่ละช่วงเวลาจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสถานการณ์การเมืองในช่วงอนาคตอันใกล้ที่จะมาถึง
- กรณีที่มีคำถามให้ยืนยันว่า พรรคจะไม่มีผู้นำที่มาจากตระกูลชินวัตรนั้น ต้องเรียนว่าพรรคมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีประสบการณ์การบริหารประเทศ และมีความรู้ ความสามารถที่หลากหลาย จำนวนมาก ดังนั้นจึงเร็วเกินไปที่จะบอกว่า พรรคจะเลือกใครมาเป็นผู้นำพรรค เรายังมีเวลาเพียงพอที่ไม่ต้องรีบตัดสินใจใดๆ เพราะสถานการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
- เมื่อเปิดให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้ สิ่งแรกที่พรรคจะคิดคือ เรื่องนโยบาย และโครงสร้างพรรคที่เหมาะสมต่อการแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชนที่ยังทุกข์ยาก เดือดร้อนอยู่ จากนั้นจึงค่อยดำเนินการคัดเลือกหัวหน้าพรรคที่เหมาะสมกับนโยบาย / โครงสร้าง / และสถานการณ์ ดังกล่าว
ประเด็นที่ 2) ระบบไพรมารี โหวต - พรรคไม่ได้กังวลต่อกระบวนการไพรมารี โหวต เพราะเราเป็นพรรคการเมืองลำดับต้นๆ ของประเทศที่ริเริ่มคิดเรื่องนี้มาก่อนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เราเริ่มต้นจากความเข้าใจในหลักการและปรัชญาของระบบไพรมารี โหวตอย่างถ่องแท้ ในปี 47-48 เราเตรียมการถึงขั้นจะทำพื้นที่ทดลอง 15 เขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวแทนทั้งประเทศ เพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค ซึ่งมิใช่แค่การคัดสรรผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเพียงเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการจัดทำนโยบาย และการทำงานของพรรคทั้งกระบวนการ ฯลฯ แต่น่าเสียดายที่เราไม่ได้ดำเนินการต่อเนื่องจนเสร็จสิ้น เพราะถูก คมช.ทำรัฐประหารในปี 49 เสียก่อน และในช่วงนั้นเรื่องไพรมารี โหวต เป็นประเด็นที่ คมช.ให้ความสนใจและพยายามสอบสวนและซักถามแกนนำของพรรคอย่างมากทีเดียว
- ที่กล่าวมาทั้งหมด เพื่อยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยมีความเข้าใจในเรื่องไพรมารี โหวต และการเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการช่วยคิดและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในพรรคอย่างเต็มที่ ไม่ใช่การดำเนินการอย่างที่ผู้ออกกฎหมายในปัจจุบันกำลังคิดและจัดทำอยู่ ซึ่งเชื่อได้ว่ากลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบัน ไม่ได้คิดอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจแบบลงลึก และยังขาดรายละเอียดอีกมาก ซึ่งการผลักดันเรื่องไพรมารี โหวตโดยขาดความเข้าใจเช่นนี้ จะกลายเป็นเหตุที่ทำให้สังคมเกิดความแตกแยก และสถาบันการเมืองเกิดความอ่อนแอ
- ท้ายที่สุดนี้ อยากเสนอให้ “ผู้มีอำนาจ” ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย อย่าเร่งรีบจนไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดความเสียหายแก่ประเทศ และไม่ควรคำนึงถึงแต่ความต้องการของตนแต่ฝ่ายเดียว หากท่านปรารถนาจะให้ระบบไพรมารี โหวตมาใช้ในการเมืองประเทศไทย ควรเพิ่มความอดทน และให้โอกาสผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมทั้งประชาชนได้เรียนรู้เพื่อจะใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยคำนึงถึงพัฒนาการและความเป็นจริงของสังคมไทยด้วย
ประเด็นที่ 3) ระบบการเลือกตั้งตามแนวทางของ กรธ. โดยเฉพาะความพยายามผลักดันให้เกิดการยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว - ผมไม่มั่นใจในเจตนาของการผลักดันเรื่องดังกล่าว และดูเหมือนจะเป็นหนึ่งในความพยายามที่ต้องการให้เกิดความสับสนวุ่นวายในการเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคการเมืองและสถาบันทางการเมืองอ่อนแอ/ถดถอย ยากต่อการบริหาร ยากต่อการทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชน และส่งผลให้เกิดความสับสน ในการเลือกนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่าคณะผู้ร่างมีเจตนาเพื่อเปิดช่องทางสู่การมีนายกฯ คนนอก เข้ามาเป็นรัฐบาล และสะท้อนให้เห็นความพยายามที่จะสืบทอดอำนาจต่อไป ใช่หรือไม่
- ผมเห็นว่า ผู้มีอำนาจควรจะสร้างกฎ กติกาการเลือกตั้งให้ง่ายต่อการปฏิบัติให้มากที่สุด เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน มิใช่เพื่อทำให้เกิดข้อยุ่งยาก และสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นกับประชาชนเช่นที่กำลังเกิดในปัจจุบัน
- กติกาที่เขียนมา เช่น บัตรเลือกตั้งใบเดียว / ระบบจัดสรรปันส่วน / ค่าสมาชิกพรรค / ไพมารี โหวต และการยกเลิกระบบพรรคเดียวเบอร์เดียว ถือเป็นการส่อเจตนาอย่างชัดเจนเพื่อให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ และมุ่งสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มตนเท่านั้น
ประเด็นที่ 4) ความท้าทายในการเลือกตั้งครั้งหน้า นโยบายที่เคยใช้หาเสียงจะยังสามารถนำมาใช้ได้เช่นในอดีตหรือไม่ - การเมืองที่จะเกิดขึ้น ควรจะต้องมุ่งเดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แม้จะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ก็ต้องเป็นสิ่งที่สะท้อนเจตนารมณ์ และการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด และให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ที่สุด และที่สำคัญจะต้องมีส่วนเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่
- พรรคเพื่อไทยขอยืนยันว่า เราจะใช้ความพยายามอย่างที่สุดที่จะมุ่งเดินหน้า สร้างงานการเมืองที่สร้างสรรค์เพื่อทำหน้าที่สำคัญคือ การรับฟังและแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นบทบาทสำคัญที่พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พึงกระทำ
- ที่ผ่านมาพรรคพยายามเสนอความเห็นในการแก้ไขปัญหาประเทศ สร้างความปรองดองให้คนในชาติ ซึ่งถือเป็นแนวทางการทำงานการเมืองของพรรคตลอดมา ซึ่งทั้งหมดนี้ในอนาคต ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน และกำหนดบทบาท ทิศทางการเมืองของพรรคในที่สุด
- ที่สำคัญที่สุด หากกฎกติกาที่ “คณะผู้มีอำนาจในปัจจุบัน” ได้ออกแบบไว้นั้น เกิดสร้างปัญหาและเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ขัดขวางการทำงานการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ และเป็นข้อจำกัดในการดูแลความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน ก็ถือเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกๆ คนที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข ปรับเปลี่ยนกติกาที่ได้ออกแบบไว้ให้มีความสอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ ต่อไป เพื่อมิให้ประเทศติดอยู่ในวิกฤตและกับดักที่ถูกสร้างขึ้น
ประเด็นที่ 5) อนาคตของพรรคเพื่อไทยภายหลังวันตัดสินคดีท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ - ผลตัดสินจะออกมาอย่างไร ดีหรือร้าย คงยากจะคาดเดา และเราคงไม่ขอก้าวล่วงดุลพินิจขององค์คณะที่รับผิดชอบ
- ในแง่มุมของเรา เรามั่นใจว่า สิ่งที่ผู้นำพรรคเพื่อไทยได้ดำเนินการมาตลอดในเรื่องนโยบายจำนำข้าว ล้วนเป็นไปด้วยความสุจริต และเป็นการดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดและเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ตามนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภา และถือเป็นการดำเนินการตามแผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2555 ถึง 2558 ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และที่สำคัญกฎหมายมีสภาพบังคับและกำหนดให้ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์และคณะรัฐมนตรีทั้งคณะก็ได้ใช้ความพยายามและความระมัดระวังอย่างเต็มที่ในการดูแลเพื่อให้โครงการรับจำนำข้าวเกิดประโยชน์สูงสุดต่อครอบครัวเกษตรกร และผลประโยชน์โดยรวมของประเทศ
- พรรคเราจึงกล้ายืนยันและเชื่อมั่นว่า ท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์มิได้ทำสิ่งใดผิดตามที่ถูกกล่าวหา เรามั่นใจในความบริสุทธิ์และความตั้งใจจริงของท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ จึงเชื่อว่าผลแห่งความมุ่งมั่นทำงาน และคุณงามความดีที่ท่านได้ทำ สั่งสมมา จะปกปักรักษาให้ท่านพ้นภัยในครั้งนี้
- พรรคมีความเป็นสถาบันการเมือง มีประวัติศาสตร์ และผ่านการทำงานปฏิรูปและพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนชาวไทยมานานนับสิบๆ ปี หากผลจากการทำงานที่มุ่งมั่นให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนผู้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะทำให้พรรคเราได้รับผลเสียหาย เราก็ยังเชื่อมั่นว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นใจเรา จะโอบอุ้มคุ้มครองเรา และจะให้โอกาสพรรคการเมืองของเราอยู่เคียงข้างพวกเขาตลอดไป
ประเด็นที่ 6) การออกแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยล่าสุด ที่ขอให้รัฐบาลยุติการคุกคาม และการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน - สิทธิ เสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพสื่อมวลชนหรือแม้กระทั่งเสรีภาพของกลุ่มบุคคล กลุ่มชน หรือของปัจเจกบุคคล ล้วนเป็นสิทธิ เสรีภาพอันชอบด้วยกฎหมาย และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญของประชาชน
- ทุกรัฐบาล (ทั้งที่เป็นประชาธิปไตย และไม่เป็นประชาธิปไตย) จะต้องยึดถือและปฏิบัติตามพันธกรณี กติการะหว่างประเทศและตามรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องให้ความคุ้มครอง และเคารพซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อีกทั้งต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการละเมิดสิทธิ เสรีภาพดังกล่าว อย่างเคร่งครัด
- การละเมิดสิทธิมนุษยชน จะไม่ส่งผลดีต่อการปรองดอง และจะยิ่งส่งผลเสียต่อภาพพจน์ของประเทศ และยังอาจนำไปสู่การไม่ได้รับความสนับสนุน และไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาคมโลกอีกด้วย
ประเด็นที่ 7) ความร่วมมือในการช่วยสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดองของประเทศ - พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้
ต้องมีความยุติธรรมเป็นพื้นฐาน ตราบใดที่คนในสังคมยังรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมหรือยังมีลักษณะความเป็นสองมาตรฐาน การปรองดองก็ยากจะประสบความสำเร็จ หน้าที่ของผู้นำโดยเฉพาะรัฐบาลต้องเป็นแบบอย่างในการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้น และต้องสร้างความมั่นใจให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถได้รับความยุติธรรมต่างๆ อย่างเท่าเทียมกัน - พรรคเพื่อไทยได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า กระบวนการปรองดองที่จะเกิดขึ้น ต้องไม่เป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อการสร้างภาพลักษณ์ หากแต่ต้องมุ่งมั่นไปสู่กระบวนการที่จะอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายอย่างเสมอภาค กระบวนการปรองดองจึงจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง และจะเป็นหนทางสำคัญในการนำพาประเทศของเราออกจากวิกฤตการณ์ได้อย่างแท้จริง
ภูมิธรรม เวชยชัย
รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย
14 สิงหาคม 2560
Matemnews.com 14 สิงหาคม 2560