เว็บไซต์ change.org
ออกมาตรการเร่งด่วนแก้วิกฤตฝุ่นรุนแรง ที่ไม่ใช่การฉีดน้ำ!
เราต้องการมากกว่าแค่การฉีดน้ำไปวันๆ
379 คือ ระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอนที่วัดได้สูงสุดในพื้นที่สะพานควายเมื่อเช้านี้ ซึ่งแสดงว่าอากาศเป็นพิษในระดับรุนแรง
การฉีดน้ำช่วยเฉพาะฝุ่นเม็ดใหญ่ ทำได้เพียงชั่วคราว และที่สำคัญอาจไปรบกวนเซ็นเซอร์วัดฝุ่นทำให้การวัดค่าฝุ่นออกมาผิดเพี้ยน
ส่วนปัญหาที่เรากำลังเผชิญคือฝุ่นขนาดเล็กที่มาจากรถยนต์เป็นหลัก พูดง่ายๆ คือหยดน้ำที่กทม.ฉีด มันใหญ่กว่าขนาดฝุ่น มันเลยจับฝุ่นไม่ได้ จำเป็นต้องใช้วิธีอื่นเพิ่มเติม ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว
นาทีนี้ วิกฤตมลภาวะทางอากาศจากระดับฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐาน ควรต้องยกเป็นปัญหาเทียบเท่า ‘ภัยพิบัติ’ ระดับชาติได้แล้ว เพราะมันกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม
เราเรียกร้องให้ภาครัฐ ประกาศมาตรการเร่งด่วนแก้วิกฤตฝุ่น (ที่มากกว่าแค่การฉีดน้ำ…!)
ขอความจริง – นำเสนอข้อมูลสภาวะอากาศอย่างครบถ้วน โปร่งใส ล่วงหน้า ออกในทุกช่องทางรายวัน โดยบอกถึงอันตรายของมลพิษอย่างจริงจังตามจริงและประชาสัมพันธ์วิธีป้องกัน และเปลี่ยนมาใช้ดัชนีสุขภาพอันเนื่องมาจากคุณภาพอากาศ AQHI (Air Quality Health Index) แจ้งเตือนคุณภาพอากาศต่อประชาชน แทนดัชนีวัดคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) เนื่องจากค่า AQHI ได้นำความแรงของผลกระทบจากมลพิษมาร่วมคำนวณด้วย อีกทั้งควรนับรวม PM2.5 ไว้ในค่า AQHI เพื่อให้การแจ้งเตือนประชาชนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (อ่านต่อ)
ลดจำนวนรถ คุมควันดำ – มีมาตรการลดปริมาณรถยนต์ให้สอดคล้องกับภาวะวิกฤติ (‘สั่งการ’ งดใช้รถ 7 วัน 14 วัน ว่าไป…ไม่ใช่ ‘ขอความร่วมมือ’) เนื่องจากรถยนต์และการจราจรที่ติดขัดเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของละอองฝุ่นขนาดเล็กในเมือง และควันพิษจากรถยนต์จะสูงขึ้นถ้าความเร็วของรถยนต์ต่ำลงเช่นเวลาที่รถติด ห้ามรถบรรทุกเข้าเมืองในช่วงเวลาที่อากาศวิกฤติ PM2.5 เกิน 100 วิธีการที่ประเทศอื่นทำก็เช่น การสลับวันวิ่งตามเลขทะเบียน ซึ่งสามารถลดปริมาณรณยนต์ลงได้ครึ่งหนึ่ง เหมือนที่ทำสำเร็จแล้วในจีนที่เคยประสบปัญหาฝุ่นละอองอย่างรุนแรงเมื่อ 3 ปีก่อน (อ่านต่อ) รวมไปถึงการตรวจจับรถควันดำอย่างเคร่งครัด เรากำลังเผชิญวิกฤต จึงไม่อาจคาดหวังได้ว่าทุกคนจะใช้ชีวิตบนท้องถนนได้ตามปกติ
คุมการเผา และควันพิษจากโรงงาน – คุมการปล่อยควันพิษของโรงงานอุตสาหกรรม และการโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วเมืองช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม โดยจัดทำฐานข้อมูลแหล่งปลดปล่อยมลพิษอย่างชัดเจน ว่ามลพิษที่ปลดปล่อยมามาจากแหล่งใด ปริมาณเท่าไหร่
ระยะยาว – จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหาในระยะยาวโดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วน ซึ่งน่าจะนำไปสู่นโยบายอย่างการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น การปรับปรุงระบบรถโดยสารสาธารณะ ที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย ราคาเข้าถึงได้ และจัดทำการสำรวจทางการแพทย์ในระดับมวลชน (Mass) เช่นสำรวจอาการของคนที่เป็นโรคจมูก ภูมิแพ้ โรคทางเดินหายใจส่วนบน ว่ามีสัดส่วนสัมพัทธ์กับมลพิษรวมทั้ง PM 2.5 มากเพียงใด เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย (อ่านต่อ)
อากาศ เป็น ทรัพยากรเดียวที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช้ร่วมกัน และเรากำลังฆ่าตัวตายหมู่ด้วยกันอย่างช้าๆ ในตอนนี้!
matemnews.com
15 มกราคม 2562