นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะหมอ แถลงข่าวแก่สื่อมวลชนที่กระทรวง เมื่อบ่าย 15 ม.ค.2562 ว่าด้วย การเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ใน กทม.และปริมณฑล
“ปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 กรมอนามัยมีการติดตามเฝ้าระวังมาตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 2561 ขณะนี้มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) เพื่อเฝ้าระวังโรคและผลกระทบสุขภาพจากภาวะฝุ่น PM2.5 ที่มีปริมาณมาก ศูนย์จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาล รวมไปถึงโซเชียลมีเดีย โดยจะดำเนินงานจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ขณะนี้ยังไม่พบความผิดปกติด้านสุขภาพจากปัญหาดังกล่าว ร่างกายจะมีการกรองฝุ่นในตัวอยู่แล้ว เพียงแต่ PM2.5 จะมีโอกาสหลุดรอดเข้าไปได้ลึกถึงปอดมากกว่า ไม่ได้แปลว่าการสัมผัสฝุ่น PM2.5 จะทำให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพทันที เพราะเป้นเพียงความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับปริมาณ ความเข้มข้น ระยะเวลา ไม่มีใครบอกได้ว่า จะต้องได้รับมากน้อยหรือเวลามากเท่าใดจึงจะเกิดปัญหา ทางที่ดี คือ ลดความเสี่ยงในการสัมผัสลง ก็เหมือนกับการขับรถยนต์ ขับรถเร็วก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุมาก แต่ไม่ได้แปลว่าคนขับรถช้าจะไม่เกิดอุบัติเหตุเลย การป้องกันทางหนึ่งคือ การใช้หน้ากากอนามัย แต่พบว่า มีจำนวนหนึ่งยังเข้าใจและใช้หน้ากากอนามัย N95 ไม่ถูกต้อง อยากจะชี้แจงว่า หน้ากาก N95 ไม่ใช่คำตอบเดียวในเรื่องนี้ หน้ากาก N95 มีประสิทธิภาพสามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้มากกว่า 90% แต่ก็ต้องใส่ให้ถูกต้อง ที่เรียกว่าฟิตเทสต์ คือ จะต้องแน่นมากพอจนรู้สึกว่า ไม่มีอากาศผ่าน ซึ่งหากใส่ไม่ถูกต้องก็ไม่มีผลอะไร อย่างไรก็ตาม แม้จะใส่อย่างถูกต้องก็ใส่ได้ไม่นาน โดยเฉลี่ยคือประมาณ 20 นาที ก็จะมีปัญหาหายใจไม่สะดวก จึงอยากชี้แจงว่า หน้ากาก N95 ยังไม่ได้จำเป็นถึงขั้นนั้น หากเป็นคนปกติอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาก็สามารถใช้ชีวิตปกติได้ แต่หากอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นสูงหรือต้องเข้าไปในพื้นที่ หากใช้เวลาไม่นาน เช่น 10-20 นาที ก็อาจไม่ต้องทำอะไร เพราะไม่ใช่ว่าสัมผัสฝุ่นแล้วจะเกิดผลกระทบเลย แต่หากต้องสัมผัสเป็นเวลานานขึ้น เช่น ต้องรอรถเมล์เป็นเวลานาน และต้องอยู่บนรถเมล์ร้อนตามถนนเกิน 1 ชั่วโมง ก็อาจสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน หน้ากากอนามัยปกติก็สามารถป้องกันได้ 50% มีข้อมูลงานวิจัยอยู่ว่า การนำทิชชูมารองเพิ่มอีก 2 ชั้นก็สามารถช่วยป้องกันได้มากขึ้น เพราะ N95 ก็ใส่ได้ไม่นานเกิน 20 นาทีอยู่แล้ว”
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า
“กรมฯ ได้ร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมเฝ้าระวังเรื่องฝุ่น PM2.5 มาตั้งแต่ พ.ย. 2561 เพราะทราบดีว่าสถานการณ์จะเกิดขึ้นช่วงปลาย ธ.ค. – ม.ค. โดยอาศัยข้อมูลจากทาง คพ.และ กทม. หากพบว่าพื้นที่ใดอยู่ในระดับสีส้มขึ้นไป คือ มีความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพค่อนข้างมาก หรือมีค่าฝุ่น PM2.5 ตั้งแต่ 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรขึ้นไป ก็จะมีการแจ้งเตือนและให้คำแนะนำประชาชนในพื้นที่ที่มีปัญหาทุกวัน”
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค หรือ คร. กล่าวว่า
“คร.มีระบบเครือข่ายเฝ้าระวังผลกระทบฝุ่น PM2.5 ในโรงพยาบาล 22 แห่ง ในกลุ่มเสี่ยงคือผู้ป่วยหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจ และหลอดเลือด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ ขณะนี้มีรายงานเข้ามาเบื้องต้นเพียง 7 โรงพยาบาล โดยเป็นข้อมูลย้อนหลัง 5 เดือน คือ ช่วง ส.ค. – ธ.ค. 2561 พบว่ามีผู้ป่วยรวมประมาณ 364 ราย สถานการร์ไม่ต่างจากปีก่อน หรือปี 2560 แต่อย่างใด สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในตอนนี้ที่แตะสีแดง คือ เกิน 91 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป มีเพียงไม่กี่พื้นที่ แต่ประเด็น คือ ค่าฝุ่นนี้ไม่ได้สูงทั้งวัน และไม่ได้ครอบคลุมทั่วทั้ง กทม. ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่สีแดง ส่วนกลุ่มเสี่ยงนั้นหากอยู่ในพื้นที่สีส้มก็แนะนำว่าให้ลดกิจกรรมออกกลางแจ้ง อยู่ในอาคารสถานที่ และดูแลสุขภาพ แล้วคอยประเมินว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ เช่น รู้สึกหายใจไม่เต็มที่ ก็อาจปรึกษาแพทย์ได้ ส่วนผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ ก็แนะนำให้ดูแลตัวเองอย่างใกล้ชิด หากมีการเปลี่ยนแปลงของโรคก็สามารถไปพบแพทย์ได้โดยตรง ส่วนการใช้หน้ากาก N95 ป้องกันได้ แต่ใส่ได้ไม่นาน ส่วนหน้ากากอนามัยธรรมดาก็ป้องกันได้ จึงเป็นทางเลือกในการช่วยลดความเสี่ยงลงได้ ที่ผ่านมาค่าฝุ่นยังไม่เคยถึง 200 มคก./ลบ.ม. เหมือนในต่างประเทศ หากถึงขั้นนั้นอาจจะต้องออกมาตรการทางกฎหมาย เช่น ห้ามมีกิจกรรมทางกลางแจ้ง เป็นต้น
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ กล่าวอีกว่า ข้อกังวลในส่วนของเด็กก็จะมีการลงพื้นที่ไปตามโรงเรียนเพื่อทำความเข้าใจในการดูแลตัวเอง ส่วนที่ว่าจะต้องถึงกับหยุดเรียน ไม่เข้าแถวหน้าเสาธง ตรงนี้อยู่ที่โรงเรียนใช้ดุลพินิจ เพราะหากไม่ได้อยู่พื้นที่สีแดงก็ไม่มีความจำเป็นถึงขั้นนั้น ที่สำคัญแม้จะเป็นพื้นที่สีแดงก็ไม่ได้สีแดงตลอดทั้งวัน และเมื่ออยู่ในตึกในอาคารก็ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา”
matemnews.com
15 มกราคม 2562